เปิดงบอาหาร ส.ส.-ส.ว. กินอะไรกัน ปีละเกือบ90ล้าน





“ทีมข่าวข้นคนข่าว” สืบค้นประกาศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง รับสมัครคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอเป็นผู้ประกอบการในการจัดอาหารและเครื่องดื่มให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวันประชุมร่วมกันของรัฐสภาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ของปีนี้)

โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความประสงค์รับสมัครคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอเป็นผู้ประกอบการ ในการจัดอาหารและเครื่องดื่มให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวนเงิน 87,880,000 บาท (แปดสิบเจ็ดล้านแปดแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)

หลักการและเหตุผล ระบุเอาไว้ว่า โดยภารกิจที่สำคัญของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คือ การดำเนินการสนับสนุนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

โดยการจัดอาหารและเครื่องดื่มเลี้ยงรับรองให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา ในวันประชุมดังกล่าวนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานที่เอื้อต่อการทำงานด้านนิติบัญญัติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพด้วยนั่นเอง

ลองไปดูกันหน่อย ว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องดำเนินการจัดอาหารและเครื่องดื่มให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ช่วงเวลา ดังนี้

1) อาหารว่างเช้า (ค่าอาหาร 150 บาท / ค่าเครื่องดื่ม 50 บาท รวม 200 บาท)

2) อาหารกลางวัน (ค่าอาหาร 350 บาท / ค่าเครื่องดื่ม 50 บาท รวม 400 บาท )

3) อาหารเย็น (ค่าอาหาร 350 บาท / ค่าเครื่องดื่ม 50 บาท รวม 400 บาท )

4) อาหารค่ำ (ไม่มีรายละเอียด)

5) อาหารรอบดึก (ไม่มีรายละเอียด)

กรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เลิกก่อนเวลา 20.00 นาฬิกา จะไม่มีการเบิกจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มมื้ออาหารค่ำและอาหารรอบดึก

(คำนวนคร่าวๆ 750 X 1,000 วันละ 750,000 บาท)

เปิดข้อเสนอแนะให้เอกชนจัดของหวานชานมไข่มุก

ทีมข่าวตรวจค้นข้อมูล พบว่า ช่วงต้นปี มีการเชิญตัวแทนหัวหน้าพรรคการเมือง ผู้แทนพรรคการเมือง แสดงความเห็น ข้อชี้แนะเกี่ยวกับคุณภาพอาหาร และการให้บริการ ส.ส. ส.ว. ท่านมีความเห็นว่าอย่างไรกันบ้าง

1. ควรเพิ่มปริมาณอาหารและประเภทอาหารให้มีความหลากหลาย เช่น อาหารพื้นเมือง 4 ภาค อาหารฮาลาล ไก่ย่างส้มตำอย่าให้ขาด รวมไปถึงอาหารที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด อาหารมังสวิรัติ และข้าวราดแกง เป็นต้น

2. ควรเพิ่มขนมหวานให้มีความหลากหลาย เช่น ไอศกรีม ชาไข่มุก เป็นต้น

3.ประสานงานกรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจประเมินคุณภาพและความสะอาดของอาหารตลอดจนภาชนะใส่อาหารของร้านอาหารในห้องรับรอง ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

4.รวมทั้งให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล เพิ่มพนักงานเพื่อรับรายการอาหาร (Order) ใส่กล่อง กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความประสงค์ให้ผู้ติดตามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับอาหารแทน (ประเด็นนี้เคยเป็นข่าว นักการเมืองหอบข้าวกล่องกลับบ้าน)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.65 “นายวัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนขอให้ตรวจสอบการคัดเลือกผู้ประกอบการในการจัดอาหารและเครื่องดื่มให้กับ ส.ส. สภาพร้อมทำหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สืบเนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอเป็นผู้ประกอบการในการจัดอาหารและเครื่องดื่มให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภาในวันประชุมร่วมของรัฐสภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ซึ่งมีการประชุมคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอ เมื่อวันที่ 3 – 4 พ.ย.65 ไปแล้วนั้น ปรากฏข่าวว่าข้าราชการที่เป็นกรรมการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อให้บริการอาหารในห้องอาหารรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถูกนักการเมืองซึ่งมีอำนาจในสภาโทรศัพท์ข่มขู่บังคับให้ลงคะแนนให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่ง

ทั้งนี้ยังมีข่าวว่ามีการให้เงินจำนวน 10,000 บาท กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อประเมินแบบสอบถามความพึงพอใจในรสชาติอาหารและบริการตามที่กำหนดอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อจริยธรรมและขัดต่อหลักการของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด

“นายวัชระ” ระบุว่า จากกรณีดังกล่าวแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ควรต้องพิสูจน์ความจริงว่าจริงหรือไม่ และหากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องการให้การบริหารบ้านเมืองมีความโปร่งใสสุจริต ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านี้นักการเมืองในสภาก็ยังไม่ละเว้น

“ในฐานะที่ผมเป็นบุคคลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 50 (10) ซึ่งมีหน้าที่ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ มาตรา 63 รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด และมาตรา 78 รัฐพึงส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ”

จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งชะลอการประกาศผล และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้าราชการที่เป็นกรรมการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับมอบหมายให้ประเมินแบบสอบถามความพึงพอใจในรสชาติอาหารและบริการ เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสถาบันนิติบัญญัติต่อไป อันถือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

 

ข่าวจาก : nationtv

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: