ศาลสั่งคุก 5ปี ริบเงิน20ล้าน อดีตผู้พิพากษาเรียกสินบนประกันตัว20ล้าน





30 มิ.ย.2566 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 178/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นฟ้อง นาย ฐ. อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ขอให้ลงโทษตามพรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 171, 175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 30 วรรคสอง พรป.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128, 129 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ.2543 ข้อ 5(2) (เดิม)

และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐฯ ขอให้ริบทรัพย์สิน หรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท และ
หรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลย แทนตามมูลค่าดังกล่าว

โจทก์ฟ้องว่า คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาชาวไต้หวันและ ศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายขังไว้ในคดีอาญา เมื่อระหว่างเดือน พ.ย.61-12 ธ.ค.61 ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยอ้างว่ารู้จักสนิทสนมกับผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการสามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับการสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันดังกล่าวได้ โดยจำเลยเรียกและรับเงิน 20 ล้านบาท จากนาย พ. หรือ โก พ. เป็นค่าตอบแทน

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า นอกจากโจทก์มีบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลที่ให้การต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นยืนยันว่าจำเลยเรียกและรับเงิน 20 ล้านบาท จากนาย พ. รวม 4 ครั้งแล้ว โจทก์ยังมีหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ที่นาย พ. พบและส่งมอบเงิน ให้กับจำเลย ดังนี้

ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 จำนวนเงิน 1 ล้านบาท ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง จ.ภูเก็ต โจทก์มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ต ของ นาย พ. ที่แสดงให้เห็นว่าในวันดังกล่าวนาย พ. เบิกถอนเงินสด 1 ล้านบาทบาท จากบัญชีของตน สาขาภูเก็ตเพื่อนำมามอบให้จำเลยที่รออยู่ที่โรงแรม

ส่วนครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 พ.ย.61 จำนวน 3 ล้านบาท ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 30 พ.ย.61 จำนวน 7 ล้านบาท และครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.61 จำนวน 9 ล้านบาท มีการนัดและส่งมอบเงินกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง กรุงเทพมหานคร โจทก์มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยและนาย พ. นัดพบเพื่อส่งมอบเงินกันที่โรงแรมในช่วงวันเวลาดังกล่าว

ได้แก่ ข้อมูลการเดินทางของจำเลย ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเครื่องบินบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ระหว่างภูเก็ต-ดอนเมือง และดอนเมือง-ภูเก็ต ใบเสร็จค่าที่พักโรงแรมแ่หงหนึ่ง กรุงเทพมหานคร ซึ่งระบุวันเวลาที่นาย พ. เข้าพัก ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการนัดพบจำเลย ภาพถ่ายจำเลยในบริเวณโรงแรม และที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควาย ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับโรงแรม

รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารของนาย พ. ที่แสดงว่านาย พ. ทำรายการฝากถอนเงินเพื่อรวบรวมเงินนำไปมอบให้จำเลย รวมถึงคลิปวิดีโอภาพและเสียงและสัญญาจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.61 ซึ่งเป็นการรับเงินครั้งสุดท้าย

พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเรียกและรับเงิน จากนาย พ. 20 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ในคดีอาญาของศาลจังหวัดสมุทรปราการจริง แม้จำเลยไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันหรือจำเลยไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวเลยก็ตาม

ก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 175 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 แล้ว และการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากนาย พ. ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือ ประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา

จึงเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา มาตรา 128วรรคหนึ่ง และ 129แห่ง พรป.ฉบับดังกล่าวข้างต้นอีกกระทงหนึ่งด้วย แต่สำหรับความผิดตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 171 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางไต่สวนว่า นาย พ. รู้อยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้พิพากษาศาล อุทธรณ์ภาค 8

และจำเลยเรียกรับเงินโดยอ้างว่าจะนำไปมอบให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาอีกทอดหนึ่งและนาย พ. กับพวกก็เข้าใจเช่นนั้น โดยไม่มีการกระทำหรือพฤติการณ์อื่นใดที่จะทำให้นาย พ. กับพวกเชื่อหรือเข้าใจว่าจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ กระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พรป.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 วรรคหนึ่ง, 129 ประกอบมาตรา 169,175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อ กฎหมายหลายบทลงโทษตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี ริบเงิน 20 ล้านบาท หรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ข้อหาอื่น นอกจากนี้ให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณา จำนวน 10 นัด รวมระยะเวลาตั้งแต่วันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเวลา 9 เดือน 3 วัน

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: