7 พ.ย. 2566 ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” ปีงบประมาณ 2567 ว่า วันนี้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส รวมทั้งในเขตสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมโยบายยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ เป็นหนึ่งใน Quick Win ที่ สธ.เร่งรัดดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
โดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของประชาชน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของหน่วยบริการให้เป็น รพ.อัจฉริยะ (Smart Hospital)
“เรามั่นใจหลังจากวันนี้แต่ละแห่งจะเข้าสู่แนวทางปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลนำไปสู่การปฏิบัติได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 จะเริ่มใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเป็นการให้บริการสุขภาพทุกมิติ ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ ฯลฯ โดยใน 4 จังหวัดนำร่องจะใช้บริการได้ทุกเครือข่าย ทั้งรัฐและเอกชน ร้านยา คลินิกที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งภาคเหนือที่ จ.แพร่ ภาคกลาง จ.เพชรบุรี ภาคอีสาน จ.ร้อยเอ็ด และภาคใต้ จ.นราธิวาส”
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางขยายทั่วประเทศนั้น มีความตั้งใจจะต้องทำให้ครอบคลุม แต่ต้องอาศัยเวลา เนื่องจากต้องมีเรื่องฐานข้อมูล ขณะนี้ในเครือข่ายของ สธ.ยังสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ มี 4 เขตสุขภาพ ซึ่งแต่ละเขตมีหลายจังหวัดหลาย รพ.ของ สธ. ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 ซึ่งจะเริ่มใน รพ.สังกัด สธ.ทุกแห่งก่อน และจะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมการสำหรับจังหวัดที่มีความพร้อมในแต่ละเขตสุขภาพ ซึ่งจะขยายต่อไปทุกเครือข่ายเพิ่มขึ้น เรามีจังหวัดในใจแล้ว หลังจากนี้เมื่อระบบเสถียร โดยเฉพาะข้อมูลดิจิทัล ความปลอดภัยต่างๆ ก็จะสามารถขยายต่อไปได้ไม่ยาก คาดว่าน่าจะใช้เวลา 1 ปีน่าจะได้ทั้งหมด
เมื่อถามว่า รพ.เอกชน ที่เข้าร่วมนโยบายใน 4 จังหวัดมีทุกแห่งหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยู่ที่รพ.เอกชน สมัครใจ และพร้อมร่วมกับเรา ซึ่งใน 4 จังหวัดมีทุกเครือข่าย แต่ไม่ใช่ทุก รพ.เอกชน จะใช้บริการได้เฉพาะที่เข้าร่วม
เมื่อถามว่าระบบเบิกจ่ายเงินให้เอกชนสร้างแรงจูงใจได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ระบบการจ่ายเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อกังวล เราตอบโจทย์ให้ดีที่สุด มั่นใจว่าระบบที่วางไว้จะเป็นแรงจูงใจ ทำให้ระบบการดูแลรักษา และค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับเนื้องาน ซึ่งเราวางไว้หมดแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีการเดินหน้าเข้าถึงบริการสุขภาพในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. 50 เขต 50 รพ. ที่จะนำร่อง รพ.เขตดอนเมือง จะมีปัญหาเรื่องของการจัดสรรบุคลากรหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเรื่องของกลไกการบริหารจัดการ เราต้องลดปัญหาให้มากที่สุด เพราะเรายึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ขณะนี้เรายังไม่มี รพ.เป็นของตัวเองในพื้นที่เมือง เราก็ไปพูดคุยกับกระทรวงกลาโหม อาศัย รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) และรพ. ระดับ 120 เตียง ให้จัดบริการไปก่อน ในขณะที่กำลังจะหาที่ในการสร้าง รพ.ที่เป็นของเราเองรองรับ ก็ดำเนินการด้านนี้ไป
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการรองรับ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” ครอบคลุมตั้งแต่ 1.ระบบบันทึกข้อมูลสำหรับหน่วยบริการประเภทต่างๆ 2.ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน 3.ระบบให้บริการ และ 4.ระบบเชื่อมต่อกับประชาชนผ่าน LINE Official Account และ Application เพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยบริการและบุคลากรในการจัดเตรียมระบบ วางแผนบริหารจัดการ และทดสอบการให้บริการจริงแก่ประชาชน
โดยกิจกรรมภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือและสมุดสุขภาพประชาชน (Health Wallet), Data Governance : PDPA & Cyber Security, การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล, Financial Data Hub และ MOPH Claim, แนวทางการดำเนินงานการใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยา/สั่งแล็บอิเล็กทรอนิกส์ และบริการรับ-ส่งยา ทางไปรษณีย์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการประชุมกลุ่มย่อยระดมสมองจัดทำแผนปฏิบัติการ และนำเสนอแผนฯ แก่ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิอีกด้วย
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ