จับตารัฐบาลบีบ ‘ปตท.’ ลดราคาก๊าซ อุ้มค่าไฟประชาชนทั่วไป 4.1 บาท





รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าไฟฟ้าผันแปล (เอฟที) ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลอยู่ระหว่างหาแนวทางเพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าเพื่อคงให้อยู่ในระดับ 3.99 บาทต่อหน่วย เทียบเท่างวดที่เรียกเก็บปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 2566) หรือไม่ควรเกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ นายกฯ ต้องการที่จะให้ลดค่าไฟฟ้าให้เหลือในระดับ 4.10 บาทต่อหน่วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบเกิดขึ้นกับความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย สำหรับภาคธุรกิจตลาดทุน ภาคประชาชน นักลงทุนต่างชาติ

รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุม กพช. ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขค่าไฟที่ชัดเจนได้ เพราะในการลดค่าไฟฟ้า หน่วยงานที่ต้องรับภาระหนักคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ปัจจุบันแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท

พร้อมให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า เหมือนงวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.2566) ที่ให้ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. ยังไม่สรุปตัวเลขค่าไฟ ส่วนหนึ่งมาจากการหารือที่ยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะการให้ปตท. ร่วมรับภาระในจุดนี้ เนื่องจาก ปตท. แม้ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นก็ตาม แต่ก็ถือเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การจะดำเนินการในเรื่องของงบประมาณจะต้องมีการหารืออย่างเข้มข้น

“การจะบีบให้ปตท.ช่วยเหลือ นั้นจะยากมาก เพราะปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผู้ถือหุ้นต้องดูแล จะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และอาจผิดต่อหลักข้อปฏิบัติในหลายอย่าง อีกทั้งก็ควรต้องให้บอร์ดบริหารร่วมพิจารณา ไม่เหมือน กฟผ. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเต็มตัว และยิ่งตอนนี้ยังไม่มีทั้งบอร์ดบริหารและขาดผู้ว่าการฯ รัฐบาลสามารถควบคุมได้ แต่ตอนนี้ กฟผ. ก็รับภาระไว้จนหลังแอ่นแล้ว” แหล่งข่าว กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 ธ.ค. 2566 โดยยืนยันว่าจะพยายามไม่เกิน 4.2 บาทต่อหน่วย ส่วนตัวเลขที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงคือ 4.1 บาทต่อหน่วยนั้นก็เป็นตัวเลขที่อยู่ระหว่างการทำงานหวังว่าจะทำให้ตัวเลขค่าไฟฟ้านั้นลดลงมามากที่สุด

ส่วนราคาผู้ใช้ไฟฟาไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบางนั้น จะให้ใช้ไฟฟ้าในราคาเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะครอบคลุม 17 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศโดยในส่วนนี้กระทรวงพลังงานจะเสนอของบประมาณจากงบกลางรายสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นวงเงินประมาณ 1.9 พันล้านบาท ในการจ่ายอุดหนุน ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก โดยจะพยายามทำรายละเอียดทั้งหมดของเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จแล้วจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ต่อไป

 

ข่าวจาก : bangkokbiznews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: