ยื่นภาษี 2567 รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี





ตามที่กรมสรรพากร เปิดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2566 ที่ต้องยื่นช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 และหากยื่นผ่านออนไลน์เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ให้ถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567 ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลยื่นภาษีปี 2567 ใครบ้างที่มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี รายได้เท่าไรถึงเสียภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษี ดังนี้

ใครบ้างต้องยื่นภาษี

กำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปี ต้องมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ ต่อเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด โดยการยื่นภาษี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ่ายภาษีเสมอไป โดยมีเหตุผลดังนี้

กรณีการยื่นภาษี เป็นเพียงการแสดงรายได้ที่ได้รับมาตลอดทั้งปี โดยการยื่นภาษีจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม -มีนาคม ของทุกปี หากเป็นผู้ที่มีรายได้จากงานประจำอย่างเดียว และเป็นผู้มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี โดยมีการกำหนดขอบเขตของรายได้ที่ต้องยื่นภาษีและต้องเสียภาษี ไว้ดังนี้

  • เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
  • กรณีที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 บาท และไม่ได้จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • กรณีที่มีเงินเดือนเกิน 25,833.33 บาท และจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีและเสียภาษี

กรณีการเสียภาษี เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ จะเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท เท่านั้น

วิธีคำนวณเงินได้สุทธิ

การคำนวณหา “เงินได้สุทธิ” ที่ต้องเสียภาษี ต้องนำเงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมกันตลอดปีภาษี หักด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ตามสูตร ดังนี้

เงินได้สุทธิตลอดทั้งปี=ค่าใช้จ่ายส่วนตัว-ค่าลดหย่อนส่วนตัว-ค่าลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม=เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

ตัวอย่าง เช่น : นายเอ รายได้ทั้งปี 500,000 บาท ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท, ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท, ลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท

เงินได้สุทธิ : 500,000-100,000-60,000-9,000=331,000 บาท

เทียบอัตราภาษีเงินได้

จากนั้น นำเงินได้สุทธิ เทียบกับอัตราภาษีเงินได้ ตามขั้นบันได (อัตราภาษีก้าวหน้าตั้งแต่ 5-35%) แล้วนำเงินได้สุทธิ คูณกับอัตราภาษีแต่ละขั้น เพื่อหาว่าต้องจ่ายภาษีเท่าไร

หมายความว่า ผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท และไม่มีรายได้ส่วนอื่น ๆ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเมื่อรวมรายได้ทั้งปีจะไม่เกิน 310,000 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท และ เงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท

แต่หากรายได้เกินกว่านี้ จะเสียภาษีในอัตราภาษีเงินได้ดังนี้

  • เงินได้สุทธิ 0-150,000 ได้รับการยกเว้น
  • เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
  • เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%
  • เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%
  • เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
  • เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
  • เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
  • เงินได้สุทธิ 5,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%

โดยนายเอจะอยู่ระหว่างฐาน 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% สูตรคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย ได้แก่

ภาษีที่ต้องจ่าย = (เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีขั้นบันไดก่อนหน้าสูงสุด : (331,000 – 300,000) x 10% + 7,500 บาท

โดยสรุปภาษีที่นายเอต้องจ่าย = 10,600 บาท

ทั้งนี้ ค่าภาษีตามฐานเงินเดือนตามข้างต้น คิดจากค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และเงินประกันสังคม 9,000 บาทเท่านั้น หากคุณมีสิทธิลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติม ค่าภาษีที่ต้องจ่ายก็อาจจะลดลง รวมถึงโอกาสได้รับเงินคืนภาษีก็จะมากขึ้นอีก

 

ข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: