“วันแรงงานแห่งชาติ” 1 พฤษภาคม เปิดที่มาของวันหยุดสำคัญประจำปี





ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” หรือที่เรียกว่า “Labour Day” ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่มีผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองผลงานทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน

จุดเริ่มต้นของ “วันแรงงานแห่งชาติ”

ในสมัยก่อนประเทศแถบยุโรปจะถือเอา “วันเมย์เดย์” (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

อีกทั้งทางภาคเหนือของยุโรปก็จะมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังมีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

จากตอนแรกที่เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ

ความหมายของ วันเมย์เดย์ (May Day) จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น “วันแรงงานสากล” ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน

ที่มา “วันแรงงานแห่งชาติ” ในไทย

ในประเทศไทย เมื่้ออุตสาหกรรมได้ขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานมีปัญหามากขึ้น รวมทั้งแรงงานมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยริเริ่มมีการบริหารจัดการแรงงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

กระทั่งวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึก ได้จัดประชุมขึ้น พร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็น “วันที่ระลึกแรงงานไทย”

จากนั้นได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม จนเป็นที่มาของ “วันกรรมกรแห่งชาติ” และต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” และในปี พ.ศ. 2500 ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติด้วย
แต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็มีอายุเพียงแค่ 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป

โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และมีการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และกำหนดวันกรรมกรให้เป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ในขณะนั้นมีการผันแปรจึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปี เพื่อเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ก็มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

กระทั่งปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดให้มีการฉลองตามสมควร จึงมอบให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี โดยมีการทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแสดงความรู้ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

ต่อมารัฐบาลเล็งเห็นว่าควรจะมีการยกระดับหน่วยงาน เพื่อให้มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่สำหรับการดูแลผู้ใช้แรงงานอย่างพอเพียง ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 จึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้จัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้นมา เพื่อให้การบริหารงานมีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ

ส่วนด้านที่เกี่ยวกับกรรมกรก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานขึ้นหลายร้อยกลุ่ม และยังได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน มี 3 สภา ได้แก่

  • สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
  • สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย
  • สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

“วันแรงงาน” หยุดไหม?

วันแรงงานไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้นหน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงาน ส่วนที่หยุดจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น

ทั้งนี้กรณีนายจ้างไม่อาจหยุดงานได้ ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดชดเชยวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง

แต่หากนายจ้างไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ชวนรู้กฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน

1.) เวลาทำงาน

  • ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย

2.) เวลาพัก

  • ระหว่างการทำงานปกติ ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน หรืออาจพักเป็นช่วงๆ ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน
  • กรณีให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. ต้องจัดให้ลูกจ้างพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที

3.) วันหยุด

  • วันหยุดประจำสัปดาห์

ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน ซึ่งอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

  • วันหยุดตามประเพณี

ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี รวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป

สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

  • วันหยุดพักผ่อนประจำปี

ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้

4.) การทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด

  • อาจให้ลูกจ้างทำได้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป
  • อาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน
  • อาจให้ทำงานในวันหยุด สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม และสถานพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
  • ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อ สัปดาห์

5.) วันลา

  • ลาป่วย สามารถลาได้เท่าที่ป่วยจริง
  • ลากิจ สามารถลาเพื่อไปทำกิจธุระอันเป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
  • ลาทำหมัน
  • ลารับราชการทหาร
  • ลาคลอดบุตร สามารถลาเพื่อคลอดบุตรได้ 98 วัน โดยอีก 8 วันที่เพิ่มเข้ามาล่าสุด จากเดิม 90 วันนั้น สามารถนำไปใช้ช่วงก่อนคลอดจนถึงตรวจสุขภาพหลังคลอดได้ โดยใช้สิทธิลาคลอดได้เดือนละ 1 ครั้ง
  • ลาฝึกอบรม ลูกจ้างสามารถลาได้ โดยแจ้งให้นายจ้างทราบไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนลา ทั้งนี้นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลาหากในปีที่ลาลูกจ้างเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่ น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้ง

6.) ค่าตอบแทน

  • ค่าจ้าง ให้จ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนสำหรับการทำงานที่เกิน 9 ชม.ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันทำงาน และในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด
  • ค่าจ้างในวันหยุด
  • ค่าจ้างในวันลา ในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี, ในวันลาเพื่อทำหมัน, ในวันลาเพื่อรับราชการ ไม่เกิน 60 วันต่อปี และในวันลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 45 วันต่อการตั้งครรภ์

7.) ค่าชดเชย
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่ายหรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

หากไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย

 

ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยศรีปทุม และ กระทรวงแรงงาน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: