สำรวจราคารับซื้อทุเรียนของโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ในจังหวัดจันทบุรีที่มีล้งจำนวนมากที่สุด มีการแข่งขันกันสูง ราคาทุเรียนได้ค่อยปรับลดมาตั้งแต่วันที่ 1-6 พ.ค. โดยปรับตัวลดลงอย่างแรงต่อเนื่องติด ๆ กัน กก.ละ 10-20 บาท วันที่ 3 พ.ค. จากราคาหมอนทองเกรด AB กก.ละ 165-170 บาท วันที่ 4 พ.ค. ปรับราคาลงมา 160-165 บาท
และในวันที่ 5 พ.ค. มีการปรับราคาร่วงกลางอากาศในช่วง 3-4 ทุ่ม ลงมาเหลือ กก.ละ 145-155 บาท และวันที่ 6 พ.ค. ลดลงมาเหลือ 135-140 บาท มีบางล้งประกาศหยุดรับซื้อโดยแจ้งปัญหาแรงงานที่ไม่มีเวลาพักและขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีการดึงแรงงานจากโรงแพ็กทำให้ขาดแรงงาน
แหล่งข่าวจากล้งรับซื้อทุเรียนขนาดใหญ่ใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม ล้งคาดการณ์ว่าตลาดจีนปลายทางในช่วงวันหยุดแรงงาน 1-5 พฤษภาคมที่เป็นวันหยุดยาว 5 วัน ตลาดทุเรียนในจีนจะมีปริมาณความต้องการซื้อสูงและยังต่อเนื่องไปถึง 10 พ.ค.วันแม่ของจีนอีกด้วย ล้งต่าง ๆ ที่มีเข้ามาทำธุรกิจซื้อขายทุเรียนในภาคตะวันออกจำนวนมาก ประกอบกับปริมาณทุเรียนมีน้อย จึงดันราคาแย่งกันซื้อราคาทุเรียนหมอนทองเกรด AB สูงขึ้น กก.ละ 150-170 บาท
แต่เมื่อตลาดปลายทางกระจายสินค้าไม่ได้ เนื่องจากมีฝนตกชาวจีนไม่ออกมาจับจ่ายซื้อทุเรียนมีปริมาณต่ำกว่าที่คาดการณ์ ต้องขายทิ้ง เนื่องจากปริมาณทุเรียนมีจำนวนมาก และมีปัญหาทุเรียนแตกที่เกิดจากอุณหภูมิความร้อนสูงจำนวนมากถึง 50% ตลาดปลายทางเห็นว่าทุเรียนมีปริมาณมาก มีโอกาสที่จะต่อรองราคาจึงให้ปรับราคารับซื้อทุเรียนลง ด้วยประสบภาวะขาดทุน
“คาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกจะ 400-500 ตู้ แต่ 3-4 วันมานี้ ส่งออกวันละ 9,00-1,000 ตู้ ของขายไม่ดีตู้ที่ส่งออกไปก่อนราคา กก.ละ 160 บาทยังขายไม่หมด ตู้ส่งตามไป กก.ละ 150 บาท วันชาติจีนตลาดไม่ดีต้องปรับลดราคาลงมาน้ำหนักทุเรียนหายไปมาก เถ้าแก่คนจีนที่เป็นผู้ซื้อไปจำหน่ายต้องประสบภาวะขาดทุนกันจำนวนมาก จึงต้องปรับลดราคาลง ยอมรับว่ามีการปรับราคาวันเดียวสูงถึง 10-15 บาท ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่ทุเรียนภาคตะวันออกออกสู่ตลาดจำนวนมาก น่าจะยาวไปถึงวันที่ 10 พ.ค.
ปกติล้งจะมีทุเรียนที่มือซื้อของล้งไปเหมาสวนอยู่แล้ว ความต้องการใช้แรงงานในช่วงนี้มีสูง แรงงานแพ็กของจะถูกซื้อตัวเพิ่มค่าแรงสูงขึ้นมาก ทำให้มีบางล้งต้องหยุดพักกัน 1-2 วัน แต่ล้งจะมีสวนที่ทำสัญาซื้อขายกันไว้มีปริมาณทุเรียนเพียงพอที่จะส่งตลาด ราคาที่ลดลงคาดว่า หลังวันที่ 10-15 พ.ค.น่าจะสูงขึ้นถึงกก.ละ 200 บาท ในช่วงที่ทุเรียนตะวันออกหมดและทางภาคใต้ยังไม่ออก” แหล่งข่าวจากเจ้าของล้งโรงแพ็กส่งออกกล่าว
ยิ่งพ่อค้าเหมาคว่ำสวน ABC ล้งต้องมาคัดเอง บางแห่งขาดทุนต้องนำเข้าโรงงานห้องเย็นขาดทุน กก.ละ 60-70 บาท บรรดาล้งขาดทุนกันมาก ล้งเปิดรับซื้อมี 30-40% เพราะรู้สถานการณ์ตลาดที่เสี่ยงต่อการขาดทุน บางล้งหยุดซื้อ หรือซื้อจำนวนลดลง ตอนนี้ทุเรียนที่จะตัดตามกำหนด 20 พ.ค.ตัดหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.ไม่ต้องตรวจแป้งแล้วที่แพ็กทุเรียนส่งออกชุบแต่น้ำยากันเชื้อรา ไม่ต้องป้ายน้ำยาเร่งสุกกันแล้ว เพราะร้อนจัดจนทุเรียนสุกแตก การส่งออกต้องหาทางทำให้รวดเร็ว
แผงรับซื้อทุเรียนส่งออกที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ทุเรียนที่ราคาปรับลงรุนแรง 15-20 บาทในวันที่ 5 พ.ค.จากสาเหตุปริมาณของที่ส่งออกจำนวนมากและมีของเสียจำนวนมากโดยเฉพาะทุเรียนขาดน้ำตูดแตกทำให้ราคาตลาดปลายทางปรับลดลง มีผลกระทบหลายอย่าง คือ ราคาต้นทางจากชาวสวนต้องปรับลดลง สวนที่ทำสัญญาไว้ในราคา 160-170 บาท และมีแนวโน้มราคาลดลงอีก
ในวันที่ 6 พ.ค. ราคาลงมาหมอนทองเกรด AB กก.ละ 135-140 บาท พ่อค้าที่รับเหมาตัดทุเรียนมีปัญหาที่เหมาทุเรียนไว้แล้ว ล้งแผงรับซื้อปิดไม่มีแผงส่ง และขอลดราคาลงจากชาวสวนที่ทำสัญญาไว้ เหลือ กก.ละ 120-130 บาท และที่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ราคา กก.ละ 110-115 บาท ถ้าชาวสวนไม่ขายต้นจะโทรม เสี่ยงจากพายุ การขาดน้ำ หากจะแขวนทุเรียนสุกไว้ได้ราคาจะดีดขึ้นในช่วงหลังวันที่ 20 พ.ค.ไปแล้ว เพราะทุเรียนเริ่มมีปริมาณลดลง
ทางด้านเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ใน จ.จันทบุรี เห็นว่าการปรับราคาทุเรียนลงอย่างแรงถึง กก.ละ 10 -15 บาทในวันเดียว น่าจะมาจากตลาดปลายทางมีทุเรียนแตกก่อนสุกจำนวนมาก แต่การประกาศหยุดรับซื้อหรือปิดล้งไม่มีปัญหากับปริมาณทุเรียนที่จะส่งออก เพราะล้งส่วนใหญ่ทำสัญญาซื้อกับชาวสวนไว้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนแล้ว ล้งจะยืนราคาให้และยังคงมีทุเรียนส่งเข้าโรงแพกจำนวนมาก ถ้าระยะอีก 2-3 วันนี้ล้งต้องการซื้อทุกเรียน ชาวสวนเองแก่ก็ตัด ล้งต้องจ้างแขวนไว้พื่อสมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ปริมาณการส่งออก ปริมาณการส่งออกสะสม 1 ม.ค.-4 พ.ค. 67 จำนวนตู้ 14,349 ตู้ ปริมาณ 227,342.49 ตัน มูลค่า 28,814.92 ล้านบาท โดย 1 พ.ค.67 จำนวนตู้ 913 ตู้ ปริมาณ 15,011.03 ตัน มูลค่า 2,062.79 ล้านบาท 2 พ.ค.67 จำนวนตู้ 960 ตู้ ปริมาณ 15,726.72 ตัน มูลค่า 2,134.86 ล้านบาท
3 พ.ค. 67 จำนวนตู้ 1,059 ตู้ ปริมาณ 17,3344.30 ตัน มูลค่า 2,325.55 ล้านบาท 4 พ.ค. 67 จำนวนตู้ 1,007 ตู้ ปริมาณ 16,449.54 ตัน มูลค่า 2,237.91 ล้านบาท
5 พ.ค.จำนวนตู้ 479 ตู้ ปริมาณ 8034.74 ตัน มูลค่า 1,050.83 ล้านบาท (ไม่รวมปริมาณตู้ทางเรือ 500 ตู้ที่ยังไม่ได้ออกใบ PC)
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ