สปสช. เตรียมประกาศ 4 ฉบับ รับ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เผยหน่วยบริการเชื่อมข้อมูลเกือบ100%





ภายหลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศเดินหน้านโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” โดยมีการดำเนินการไปแล้ว 3 เฟส รวม 45 จังหวัดทั่วประเทศ ล่าสุด กรุงเทพมหานครจะเป็นจังหวัดที่ 46 ซึ่งในวันที่ 26 สิงหาคม จะมีกิจกรรมคิกออฟนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพฯ” โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ “30 บาท รักษาทุกที่” โฉมใหม่ และปาฐกถาพิเศษ “30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ปาฐกถา เรื่อง “จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่” ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ได้ประชุมหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยตั้งเป้าให้มีการวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ ให้รองรับการใช้บัตรประชาชนใบเดียวของประชาชนได้ เช่น ร้านขายยาคุณภาพ 800 กว่าแห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น 200 กว่าแห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ทั้ง 69 แห่ง และโรงพยาบาล (รพ.) ทั้งรัฐและเอกชน ราวๆ 300 – 400 แห่ง ยังมีเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยในโรงเรียนอีกราวๆ 200 แห่งด้วย ซึ่งทั้งหมดรวมๆ เกือบ 2,000 แห่ง ทำการเชื่อมโยงข้อมูลกันเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงในหน่วยบริการประเภททันตกรรม ราวๆ 150 แห่ง และคลินิกแพทย์แผนไทย

ทั้งนี้ คำว่าเชื่อมโยงข้อมูลภายในหน่วยบริการของ กทม. นั้น มีความซับซ้อนมาก จึงไม่สามารถนำข้อมูลสุขภาพของประชาชนจากหน่วยบริการต่างสังกัดเอามารวมกันได้ จึงมีการตกลงกันว่าจะใช้ระบบ Health Link ที่พัฒนาโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นระบบกลางในการเข้าถึง เรียกดูข้อมูล โดยหน่วยบริการที่รับดูแลผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการอื่นได้ เช่น ประวัติผู้ป่วย การรักษา การได้รับยา ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ แล้วจากนั้น 24 ชั่วโมง ระบบก็จะทำลายข้อมูล เพื่อความปลอดภัย

“เช่นเราไปหาคุณหมอที่หน่วยบริการ A แล้วคุณหมอต้องการเรียกดูข้อมูลจากเลขบัตรประชาชน ระบบก็จะดึงข้อมูลมาทั้งหมด เมื่อดูเสร็จ ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ข้อมูลก็จะหายไป เข้าใจว่ากทม.จะใช้แบบนี้ทั้งหมด ตอนนี้ยังติดอยู่เล็กน้อย คาดว่าภายในวันที่ 15 สิงหาคม ก็จะเรียบร้อยทั้งหมด” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับการคิกออฟนโยบาย จะมีการเปิดตัวสัญลักษณ์ “30 บาท รักษาทุกที่” ให้หน่วยบริการติดไว้ที่หน้าหน่วย ให้เห็นชัดๆ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ขณะนี้กำลังทยอยแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ดังกล่าวให้ทันวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนมากขึ้นทาง สปสช. กำลังส่งประกาศระเบียบการใช้ตราสัญลักษณ์ในโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่” ออกโดยพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไปยังราชกิจจานุเบกษาออกประกาศเป็นกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการนำสัญลักษณ์นั้นไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง คาดว่าจะมีการเผยแพร่ก่อนวันที่ 15 สิงหาคมนี้

อย่างไรก็ตาม หน่วยบริการที่จะได้รับตราสัญลักษณ์ “30 บาท รักษาทุกที่” มีเงื่อนไขว่า 1. หน่วยบริการต้องเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Health Link แล้ว 2. ต้องปฏิบัติตามกติกาในการดูแลประชาชน และ 3. ต้องให้บริการตามที่ สปสช. กำหนด

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สาระสำคัญของการเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Health Link คือ “ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์” จากเดิมที่ผู้ป่วยต้องมีกระดาษไปให้หน่วยบริการปลายทาง ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ฉะนั้น ใบส่งตัวยังมีอยู่ เพียงแต่หน่วยบริการสามารถเรียกดูข้อมูลได้ผ่านทาง Health Link เนื่องจากที่ผ่านมา ถ้าไม่มีใบส่งตัว หน่วยบริการก็จะไม่มั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายกับ สปสช. ได้หรือไม่ ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางกลับไปยังหน่วยบริการต้นทางเพื่อเอาใบส่งตัวมายืนยัน

ฉะนั้น สปสช.จึงได้ออกเป็นประกาศมาเลย ให้เป็นกฎหมายชัดเจน โดยจะมีการออกประกาศทั้งหมด 4 ฉบับเพื่อมารองรับโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่” เพื่อให้หน่วยบริการมีความมั่นใจให้บริการประชาชน คาดว่าจะทยอยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์นี้

“โดยหนึ่งในประกาศที่จะออกมา จะมีประเด็นเรื่องการกำหนดขอบเขต หน้าที่ของสายด่วน 1330 ที่ชัดเจน สร้างความมั่นใจว่า หากหน่วยบริการใดที่ติดขัดปัญหาในการดูแลผู้ป่วย ให้โทรหา 1330 ที่จะเป็นผู้ดูแลไปเอาใบส่งตัวมาให้ รวมถึงดูแลกรณีที่ผู้ป่วยไปถึงหน่วยบริการแล้วแต่ไม่มีใบส่งตัว สปสช. จะจ่ายให้หรือไม่ ให้โทรมาหาที่ 1330 เพื่อบันทึกข้อมูลค่าใช้จ่ายในครั้งนั้น เป็น Claim Code เพราะต่อให้ผู้ป่วยไม่มีใบส่งตัว สปสช. ก็จะต้องจ่าย รวมถึงจะมีการส่งรถไปรับผู้ป่วยจากหน่วยบริการหนึ่งไปอีกหน่วยหนึ่งในกรณีที่เกิดปัญหาด้วย เช่น ผู้ป่วยไปแน่นอยู่ใน รพ.ใด รพ.หนึ่ง เราก็จะส่งรถไปรับ เช่น แท็กซี่ รถมูลนิธิต่างๆ นำผู้ป่วยกระจายไปยัง รพ. อื่น อย่างเช่นเอกชนที่ได้ร่วมโครงการกับ สปสช. ซึ่งประเด็นนี้เราจะมีการหารือกับผู้ว่ากรุงเทพมหานครก่อนวันที่ 15 สิงหาคม” นพ.จเด็จ กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: