ลูกน้องทำผิดจะหักเงินได้มั้ย? ไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้รึเปล่า? จ้างลูกจ้างพาร์ทไทม์ราคาถูกเพื่อจะได้ประหยัดเงิน? หรือจ้างแรงงานต่างด้าวไปเลยดี? มาลองส่องกฎหมายแรงงานกันดูสักหน่อย กับ 7 ข้อห้ามในการบริหารงานลูกจ้างร้าน
1. หักเงินพนักงานมาสาย
ทำไม่ได้ เพราะ มาตรา 76 พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ..
1.ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมาย
2.ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
3.ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์หรือเงินกู้อื่น ที่เป็นสวัสดิการของลูกจ้าง โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
4.เงินประกันของเสียหาย หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างโดยลูกจ้างยินยอมเป็นครั้งคราวไป
5.เงินสะสมตามข้อตกลง หรือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
จากข้อกฎหมายจะเห็นได้ว่านายจ้างไม่สามารถหักเงินลูกจ้างได้ในกรณีมาสายหรือทำผิด หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ลาออกกะทันหัน โดยไม่แจ้งล่วงหน้า แก้ปัญหาด้วยการหักเงินลูกน้อง
ทำไม่ได้ เพราะเมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้างแล้วและค่าจ้างถึงกำหนดจ่ายตามข้อตกลง นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาตามมาตรา 70 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในกรณีนี้หากธุรกิจเกิดความเสียหายเพราะการลาออกของลูกจ้าง นายจ้างอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอากับลูกจ้างได้ตามสมควร แต่ยังต้องจ่ายค่าจ้างตามจริงอยู่
3. ไล่พนักงานออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
จำไว้ว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างบอกเลิกจ้าง โดยที่ลูกจ้าง “ไม่มีความผิด” ซึ่งค่าชดเชยนั้นจะมีกำหนดอัตราตามอายุงานของลูกจ้าง ยกเว้นกรณีดังต่อนี้
1. ลูกจ้างลาออกเอง
2. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำผิดกฎหมายอาญาแก่นายจ้าง
3. ลูกจ้างจงใจ หรือ ประมาท ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
4. ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ กฎระเบียบ ของการทำงาน โดยได้รับการตักเตือนจากนายจ้างเป็นหนังสือแล้ว
5. ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เป็นเวลา 3 วัน โดยไม่บอกกล่าว ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่
6. ลูกจ้างโดนโทษพิพากษาจำคุก
ถ้าเข้าข่าย 6 กรณีนี้ นายจ้าง “ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย” ให้กับลูกจ้าง
4. ทำงานเกินวันละ 8 ชม. โดยไม่จ่ายค่า OT
ผิดกฎหมาย! เพราะกฎหมายกำหนดเวลาทำงานทั่วไปไม่เกิน 8 ชม./วัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์ ถ้าเป็นงานอันตรายหรืองานลักษณะพิเศษตามกฎหมายกำหนด ให้กำหนดชั่วโมงทำงานไม่เกิน 7 ชม./วัน และไม่เกิน 42 ชม./สัปดาห์
และกำหนดให้ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์ และถ้านายจ้างและลูกจ้างตกลงจะทำงานล่วงเวลา นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันทำงาน และในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด
5. พนักงานเผลอทำอุปกรณ์ในร้านเสียหาย หักเงินได้หรือไม่?
ต้องดูเป็นกรณีไป เพราะมาตรา 76 พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดก็จริง แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ในกรณีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างโดยลูกจ้างยินยอมเป็นครั้งคราวไป หรือหลายแห่งมักจะหักเป็นค่าประกันของเสียหายไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ก็สามารถนำส่วนนั้นมาชดเชยได้ แต่ทางที่ดีลองหาทางแก้ไขร่วมกันระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างจะดีกว่า ถ้าอุปกรณ์ไม่เสียหายมากอะไร หรือถ้าเสียหายมากจนกระทบกับการทำงานของร้าน อาจต้องใช้วิธีเลิกจ้างแล้วฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาแทน
6. จ้างพนักงาน part-time แต่จ่ายเงินต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
ไม่ได้ เพราะอัตราค่าแรงแรงขั้นต่ำตามกฎหมายบังคับใช้กับลูกจ้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้างรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายชั่วโมง รายชิ้น ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างถาวร ลูกจ้างเต็มเวลา ลูกจ้างพาร์ทไทม์ หรือลูกจ้างประเภทอื่น ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะจ้างภายใต้สัญญาต่อเนื่องตามระบุไว้ในกฎหมายการจ้างงานหรือไม่ โดยจะมีข้อยกเว้นลูกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ คนงานที่อาศัยอยู่กับนายจ้าง นักศึกษาฝึกหัด และลูกจ้างฝึกงานตามสัญญาที่อยู่ภายใต้กฎหมายฝึกงาน
7. รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ขาดใบอนุญาต
ผิดกฎหมาย! เพราะแรงงานต่างด้าวที่จะทำงานในประเทศไทยได้ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง รวมถึงผู้ประกอบการต้องขออนุญาตด้วย นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท/คนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
ข้อมูลจาก : makrohorecaacademy
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ