เก็บค่าธรรมเนียมรถติดคืออะไร เปิด 6 เส้นทาง อาจเก็บเงินค่ารถติด





การเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก หลังพรรคเพื่อไทยโพสต์ สำรวจความเห็นด้วยเรื่องเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เพื่อทุกคนได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ต่อมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ได้ชี้แจงว่า ค่าธรรมเนียมรถติด จะถูกจัดเก็บเพื่อนำไปจ่ายเป็นรายได้ให้กับนักลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 แสนล้านบาท ที่จัดขึ้นเพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนทุกสาย

ค่าธรรมเนียมรถติดคืออะไร

ค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ขับขี่ที่ต้องการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือแออัด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เช่น ใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจ เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนในช่วงเวลาที่มีการจราจรคับคั่ง รวมถึงส่งเสริมให้ผู้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น

โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้ถามของของ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.พรรคประชาชน ถึงรายละเอียดค่าธรรมเนียมรถติดและนโยบายขนส่งสาธารณะของรัฐบาลว่า

แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล คิดทั้งกระบวนการ-ทั้งระบบ ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาจราจรหนาแน่นในกรุงเทพฯ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น จัดทำระบบรองรับด้านขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ จนนำไปสู่นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย, การปฏิรูปรถเมล์, การปฏิรูประบบขนส่งทางราง เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว ปราศจากมลพิษ PM 2.5

6 เส้นทาง ที่มีความเป็นไปได้ อาจจะใช้ค่าธรรมเนียมรถติด

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) จำนวน 6 เส้นทาง เก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. มีเส้นทางดังต่อไปนี้

1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน

2.ทางแยก สีลม-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาทร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน

4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 1) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน

5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน

6.ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน)

เล็งเก็บแค่รถเก๋ง คาดเกณฑ์ 40-50 บาท/วัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เราพยายามขยายไปให้มีรถไฟฟ้า 20 บาทในเส้นอื่น ๆ​ และกำลังเร่งดำเนินการเรื่อง​ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจะเริ่มได้กันยายนปี 2568

ต่อมาก็มีการพูดถึงเรื่องของการตั้งกองทุนขึ้นมา​ เพื่อที่จะซื้อรถไฟฟ้าทุกสาย ซึ่งการที่จะซื้อรถไฟฟ้าทุกสายได้ การขนส่งทางรางก็ต้องมีแหล่งรายได้ด้วย เพื่อที่จะมีเงินไปซื้อรถไฟฟ้า และเมื่อดูการศึกษาในหลายประเทศเรื่องแก้ปัญหาเรื่องรถติด ก็พบว่า​มีการเก็บเงินหรือเรียกว่าภาษีรถติด​

ดังนั้น ​ตอนนี้ทางกระทรวงคมนาคม กำลังศึกษาว่าจะเก็บที่ไหนอย่างไร​ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และเชื่อว่าหากประชาชนใช้รถไฟฟ้าในราคาถูกมาก ๆ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งปัจจุบัน​เราก็รู้ดีว่า​การใช้รถยนต์ของตัวเองมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก​ และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ใช้เวลานานมาก​ ความสุขในครอบครัวก็ไม่มี

อย่างไรก็แล้วแต่ ​เรื่องของการเก็บภาษีรถติดเราจะให้มีการศึกษาก่อน ว่า​ผลออกมาดีไม่ดีอย่างไร หลังจากนั้นก็จะอธิบายให้ประชาชนฟัง

ทั้งนี้​ ผลการศึกษาดังกล่าวน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึง​ 1 ปี​ แต่เรื่องของรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต้องทำให้เสร็จก่อน โดยยืนยันว่า​ปีหน้าได้แน่นอน

ทั้งนี้ ตุ๊กตาที่วางไว้มันมีตั้งแต่ 40-​50 บาท​ต่อวัน​ โดยเป้าหมายจะเก็บในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า เพราะเมื่อมีรถไฟฟ้าแล้วยังจะใช้รถส่วนตัว มันก็จะทำให้เกิดมลพิษ เราก็อาจต้องเรียกเก็บ แต่เราก็จะมีทางเลือกให้กับรถยนต์ด้วย เช่น เราเก็บเส้นพารากอน ประชาชนที่จะผ่านเส้นพารากอน เพื่อไปพระโขนง เขาก็จะเปลี่ยนเส้นทางได้ ไปทางเพชรบุรีหรือพระราม 4 ก็ได้ เราต้องมีทางเลือกให้เขา

เมื่อถามเรื่องของการเก็บภาษีรถติดอาจจะต้องทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกันก่อน นายสุริยะ​กล่าวว่า​ถูกต้อง ก่อนผลการศึกษาออกมา เราต้องเตรียมระบบขนส่งสาธารณะให้เรียบร้อยก่อน

เมื่อถามว่า การเก็บภาษีรถติดจะกระทบกับภาคธุรกิจในเขตเมืองหรือไม่​ นายสุริยะ​กล่าวว่า​รถปิกอัพไม่เก็บ​ เก็บเฉพาะรถเก๋ง​ พร้อมเชื่อว่าหากเปลี่ยนพฤติกรรมจากรถเก๋งไปใช้รถไฟฟ้า มลพิษไม่มีแน่นอน

เป้าหมายค่าธรรมเนียมรถติด

1.ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ให้มาใช้รถสาธารณะมากขึ้น

2.สนองนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ขณะนี้มีโครงการทดลองราคา 20 บาทตลอดสาย ที่รถไฟฟ้าสายสีแดง พบว่า จากที่สังคมกังวลว่าจะต้องชดเชยเงินเป็นจำนวนร้อยล้าน แต่ข้อเท็จจริง เมื่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และศักยภาพรองรับผู้โดยสารยังเหลือ สามารถเฉลี่ยรายได้ จนเหลือค่าชดเชยอยู่ราว 1.27% เท่านั้น

ดังนั้น เป้าหมายนี้คือลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และรณรงค์ประชาชนใช้รถสาธารณะมากขึ้น และลดการใช้เครื่องยนต์สันดาป ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสีเขียว

 

ข้อมูล : พรรคเพื่อไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: