งานหนัก งานมากเกินไป ทำงานจนไม่มี “เวลาส่วนตัว” … 1 ในสาเหตุ ที่หลายคน กำลังเผชิญกับ ภาวะหมดไฟ ในการทำงาน (Burnout Syndrome) แนวคิด Work-Life Balance ที่ไม่เคยมีอยู่จริง ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร ก้าวหน้าขึ้น และ คนไทย ยังไม่เลิกใช้ ไลน์ (Line) ในการคุยงาน จนพนักงานไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้
ไม่อ่านไลน์ ไม่อ่านอีเมล ทิ้งข้อความเจ้านาย หรือ หัวหน้า แบบไม่ตอบกลับ ก็กลัวจะมีผลกระทบต่อ หน้าที่การงาน และ รายได้
แต่รู้หรือไม่ ตามกฎหมายแรงงาน เรามีสิทธิ์ที่จะหลีกเลี่ยง ในการตอบกลับ และ ทำงานตามคำสั่ง นอกเวลางานได้ หรือ สามารถร้องเรียนบริษัท/องค์กร นั้นๆ ได้ เมื่อสิ้นสถานะ “พนักงาน” แล้ว ที่สำคัญ หากมีไลน์เข้ามา สั่งงานในวันหยุด ต้องได้ค่าแรงเพิ่มอีก 1 เท่าตัว
อ้างอิงข้อมูล จากเพจกฎหมายแรงงาน โดย รองศาสตราจารย์ ตรีเนตร สาระพงษ์ ซึ่งระบุให้ความรู้เอาไว้ ว่า ถ้านายจ้าง หรือ หัวหน้า สั่งงานเราในช่วงกลางวัน ที่เป็นเวลาทำงานปกติ ถือเป็นการสั่งการ หรือ มอบหมายงานตามปกติ ย่อมต้องปฏิบัติตาม
แต่หากมีการไลน์เข้ามาสั่งงาน ใน 3 ลักษณะ ได้แก่
- นอกเวลาทำงานปกติ
- ในวันหยุด ไม่ว่าจะหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หยุดพักผ่อนประจำปี
- นอกเวลาทำงานปกติของวันหยุดทั้ง 3 ประเภทในข้อ 2
นายจ้าง จะบังคับให้พนักงานหรือลูกจ้างทำงานในเวลาดังกล่าวไม่ได้ ต้องขอความยินยอม ถ้าไม่ยินยอม ก็จะบังคับไม่ได้เช่นกัน
ไลน์สั่งงาน นอกเวลา ลูกจ้างต้องได้ค่าตอบแทน
ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่า ตามกฎหมายแรงงาน หากเจ้านายไลน์มาสั่งงานนอกเวลาทำงาน ในวันทำงานปกติ ต้องจ่าย OT ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างที่ได้รับต่อชั่วโมง
ขณะหากไลน์สั่งงานในวันหยุดต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 แรง เช่น ถ้าเคยได้วันละ 500 บาท ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 500 บาท และ หากไลน์สั่งงานนอกเวลาทำงาน แต่เป็นวันหยุดไม่ว่าจะหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หยุดพักผ่อนประจำปี ต้องจ่าย 3 เท่าของค่าจ้างที่ได้รับต่อชั่วโมง
แต่ในทางปฏิบัติ จะพบว่า พนักงาน หรือ ลูกจ้าง เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ ก็จะทำงานไปด้วยความเกรงใจ ดึกๆ ดื่นๆ ก็ต้องเปิดคอมฯ ทำงาน
หรือบางคนไม่ได้ไลน์สั่ง แต่นายจ้างจะโทรตามเช่นให้ไปซ่อมหรือแก้ไขเครื่องจักร หรือคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ไอทีก็อาจถูกโทรตาม ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นค่า OT หรือค่าทำงานในวันหยุด
อีกประเด็นที่เหล่าลูกจ้าง และ พนักงานเงินเดือน ควรรู้ คือ วิธีสั่งงานไม่จำกัดเฉพาะไลน์ แต่ยังรวมถึงไลน์สั่งงานนอกเวลางาน ก็มีสิทธิ์ได้รับเงิน 1.5 เท่า เช่นกัน
ทำงานล่วงเวลา ต้องได้รับความยินยอม เก็บหลักฐานไว้ ร้องเรียนย้อนหลังได้
เนื่องจาก กฎหมายแรงงาน ระบุเอาไว้ว่า การทำงานล่วงเวลาต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆ ไป แต่มีปัญหาว่าหากนายจ้างให้ทำงานล่วงเวลา โดยสั่งงานนอกเวลางาน เช่น สั่งงานผ่านไลน์ หรือโทรศัพท์ ซึ่งก็ไม่ได้เคยได้ขอความยินยอมจากลูกจ้าง
แต่ลูกจ้างก็ทำงานไปด้วยความเกรงใจ ดึกๆ ดื่นๆ ก็ต้องเปิดคอมฯ ทำงาน การสั่งงานเช่นนี้เป็นการให้ทำงานล่วงเวลา โดยการทำงานล่วงเวลาไม่จำเป็นต้องนั่งทำงานที่สำนักงาน สั่งให้ทำงานที่บ้าน หรือบนรถก็ได้ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา จะอ้างว่าลูกจ้างไม่เคยให้ความยินยอมเป็นหนังสือไม่ได้
ทั้งนี้ ต้องถือว่าที่ลูกจ้าง (ต้องจำใจ หรือเกรงใจ) ทำงานนั้นด้วยความยินยอม ก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 1.5 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมงในเวลาทำงานปกติ
ส่วนลูกจ้างก็อาจเก็บข้อมูลการทำงานนอกเวลาทำงานไว้ได้ หลักฐานอาจเป็นไลน์สั่งงาน หรือโทรศัพท์ หรืออีเมล
ส่วนสถานที่ทำงานจะทำที่บ้าน ทำบนรถ ทำที่สำนักงาน หรือไปกางเต็นท์นอนชิลๆ อยู่หากถูกสั่งงานก็ถือเป็นการทำงาน OT หรือทำงานในวันหยุดก็ถือเป็นการทำงานทั้งสิ้น
ในวันที่เรายังคงทำงานอยู่ หลายคนก็คงไม่กล้าฟ้อง หรือร้องต่อเจ้าหน้าที่ แต่หากออกจากงานไปแล้วก็สามารถไปฟ้องหรือร้องเรียนย้อนหลังได้ เพียงแต่ต้องเก็บหลักฐานเอาไว้ให้ดี
ที่มา : เพจกฎหมายแรงงาน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ