อัปเดตล่าสุด! เงินช่วยชาวนาเพิ่มเป็นไร่ละ 1,000 บาท เตรียมชง นบข. 25 พ.ย. นี้





“นฤมล” รัฐมนตรีเกษตรฯ เผย มติ ล่าสุด ปรับเงินช่วยชาวนาใหม่ เป็น ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ชี้หากปรับเหลือไร่ละ 500 บาท จะกระทบเกษตรกรรายย่อยที่มีที่นาน้อย เตรียมชง นบข. 25 พ.ย.นี้ พร้อมพิจารณาเพิ่มกรอบวงเงินเพิ่มเติม 38,578 ล้านบาท

กรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567 มีความเห็นให้ปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท เสนอ นบข.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นั้น

ล่าสุดศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงฯ ได้รับข้อเรียกร้องจากเกษตรจำนวนมาก ให้พิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยของไทยส่วนใหญ่มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ เงินช่วยเหลืออาจจะไม่เพียงพอ ทำให้ต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จึงได้ข้อสรุปว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จะเสนอการช่วยเหลือชาวนาในโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวเป็น 1,000 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่

โดย ข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง เพราะหากช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อไร่ตามเดิม เกษตรกรรายย่อยที่มีที่นาเพียง 5 ไร่ ก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อครัวเรือน แต่หากปรับมาเหลือ 500 บาทต่อไร่ จะได้รับการช่วยเหลือเพียง 2,500 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือชาวนาในโครงการช่วยสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวเป็น 1,000 บาทต่อไร่ จะต้องใช้งบประมาณ 38,578 ล้านบาท มากกว่าเดิมที่มีกรอบวงเงินอยู่ 29,980.1645 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ จะต้องมีการขอความเห็นจาก นบข.อีกครั้ง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กรมการข้าวมีการเสนอจ่ายเงินช่วยชาวนา 3 กรณี

  • กรณีที่ 1 :จ่าย 500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 19,300.60 ล้านบานบาท
  • กรณีที่ 2 :จ่าย 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐ และเป็นไปตามฤดูกาลการผลิตข้าวซึ่งอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ในต้นปีการผลิต2568/2569 จะได้เสนอการสนับสนมค่าปัจจัยการผลิตข้าวต่อไป (วงเงินคงเหลือจำนวน 2,429.2045 ล้านบาท จะได้ไปดำเนินมาตรการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity)
  • กรณีที่ 3 : จ่าย 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวนวน 38,578.19 ล้านบาท

 

ข่าวจาก : ฐานเศรษฐกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: