นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีกระทรวงแรงงานเตรียมเสนอการแต่งตั้งกรรมการผู้แทนฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แทนตำแหน่งที่ว่างลง เพื่อเริ่มต้นการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ให้ทันวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนนั้น ในมุมของผู้ใช้แรงงาน ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลมอบให้ แต่ในมุมของผู้ประกอบการ อาจยังไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ที่ได้มา โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้รับ โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นการปรับขึ้นที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงในทุกด้านได้ ทั้งภาระต้นทุน ความสามารถในการแข่งขัน การสร้างรายได้ และคำนึงถึงการฟื้นของเศรษฐกิจในภาพรวม
“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีการคุยกันมาตลอดทั้งปีอยู่แล้ว ซึ่งการปรับขึ้นต้องทำตามไตรภาคีจังหวัด ที่จะพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัด โดยการขึ้นค่าแรงสำหรับผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ ก็ถือเป็นของขวัญปีใหม่ได้ แต่มีแรงงานอีกจำนวนมากที่รายได้เกินค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว เพราะมีทักษะสูง จึงได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามทักษะที่มี ผลกระทบจึงจะอยู่กับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ยังเปราะบาง ต้องอาศัยแรงงานมนุษย์เข้มข้น และอยู่ในช่วงการทยอยฟื้นตัว เมื่อต้องเจอต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ธุรกิจทรุดตัวลงได้” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ผู้ที่ได้ของขวัญด้วยอีกกลุ่มคือ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับค่าแรงแบบขั้นต่ำอยู่ กลุ่มนี้จะได้อานิสงส์เชิงบวกไปด้วยแน่นอน เพราะมีอุตสาหกรรมอีกหลายกลุ่มที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ แต่เป็นอุตสาหกรรมเดิม โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ยังมองว่าควรจ่ายตามทักษะจริง เพราะต้องยอมรับว่าค่าแรงขั้นต่ำ สะท้อนถึงอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนมากเป็นการรับจ้างผลิต ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากนัก แต่ใช้แรงงานมนุษย์สูง โดยเฉพาะแรงงานจากเพื่อนบ้าน แต่ก็มีอุตสาหกรรมที่สามารถเปลี่ยนผ่านได้แล้ว เพราะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้กับการผลิต ซึ่งส่วนนี้จ่ายค่าแรงสูงตามทักษะอยู่แล้ว ประเทศไทยจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงผ่านการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานไทย และการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาพัฒนาธุรกิจมากขึ้น เป็นการแก้ไขและเดินหน้าควบคู่กัน เพราะแรงงานคือ ต้นทุนใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมทั้งการผลิตและบริการ
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ด้านของขวัญปีใหม่ที่ผู้ประกอบการต้องการ เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างแท้จริง รวมถึงการลดหนี้ครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และการลดภาระต้นทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องการของขวัญชิ้นใหญ่จากรัฐบาล คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำอย่างไรให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อออกมาช่วยธุรกิจได้มากขึ้น เพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบควบคู่กับการฟื้นกำลังซื้อกลับคืนมา เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยวิ่งถึง 3-4% ซึ่งถือเป็นของขวัญที่รอทั้งประชาชนและภาคธุรกิจคอยจากรัฐบาล
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ