เปิดรับสมัครทุนองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา





                      เปิดรับสมัครทุนองค์ความร
 
 
เปิดรับ สมัคร“ทุนองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา” เพื่อสร้างนักวิจัยอาชีพให้มีจำนวนมากขึ้นและสามารถผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง  ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบสูงทั้งด้านวิชาการและสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่งานวิจัยประยุกต์เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะหรือเชิงนโยบาย  อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการวิจัยระหว่างนักวิจัยและหน่วยงานวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
 
หลักเกณฑ์การจัดสรรทุนวิจัย 
 
1. ลักษณะโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุน    
1.1 เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินการในประเทศไทย และมีการสำรวจสถานภาพองค์ความรู้ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่มีการตีพิมพ์แล้วอย่างครบถ้วนและครอบคลุม เป็นการวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่อย่างแท้จริง ไม่เป็นการวิจัยซ้ำกับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นการวิจัยเพื่อยืนยันข้อสรุปเดิมที่มีอยู่แล้วก็ต้องมีการใช้ข้อมูลใหม่ มีการตีความใหม่ และ/หรือมีการสร้างระเบียบวิธีใหม่
1.2 มีการนิยามปัญหา และจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนและมีเหตุผลแสดงว่าการแสวงหาความรู้ใหม่ของโครงการที่เสนอจะเป็นทั้งการเสริมสร้างความสามารถในการวิจัยให้แก่นักวิจัย และสร้างองค์ความรู้ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
1.3 เป็นโครงการวิจัยที่ผ่านความเห็นชอบจากสถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุน โดยสถาบันต้นสังกัดของผู้เสนอขอรับทุนจะต้องให้ความร่วมมือ สนับสนุนงบประมาณและอำนวยความสะดวกแก่โครงการวิจัยที่ได้รับทุน 
1.4 ผลงานวิจัยที่คาดว่าจะได้รับ
1.4.1 ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานวิจัยที่ได้ต้องสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล ISI Web of Science (SCI) และมีค่า impact factor หรือการยื่นจดสิทธิบัตร
1.4.2 ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ สกว. ยอมรับตามเอกสารแนบ หรือผลงานรูปแบบอื่นที่ผ่านการประเมินโดย สกว.  
ทั้งนี้ผลงานวิจัยต้องไม่ถือเป็นความลับ ยกเว้นในกรณีที่จะมีการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร ทั้งนี้ การตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้รับทุนสามารถนำไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในรูปแบบอื่นได้โดยขอให้ระบุแหล่งทุนสนับสนุนด้วยทุกครั้ง
 
2. คุณสมบัติของผู้เสนอขอรับทุน 
2.1 เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า มีผลงานด้านการวิจัยที่มีคุณภาพ และทำงานประจำสังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานในประเทศไทย
2.2 เคยได้รับทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย สกว.) หรือทุนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของอาจารย์รุ่นกลางในสถาบันอุดมศึกษาของ สกว. หรือโครงการวิจัยที่เทียบเท่าจากแหล่งทุนอื่นและมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีมาก
2.3 เป็นผู้ที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติไม่น้อยกว่า 3 เรื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี ค.ศ. 2009-2014) ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเป็นผลงานในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล ISI Web of Science (SCI) และมีค่า impact factor สำหรับสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะต้องเป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีการตรวจสอบต้นฉบับ (peer review) อย่างเข้มแข็ง โดยผู้เสนอขอรับทุนต้องเป็นเจ้าของบทความชื่อแรกหรือชื่อท้ายหรือเป็น corresponding author (นักวิจัยผู้รับหน้าที่ติดต่อ)  ทั้งนี้ผลงานตีพิมพ์ทั้ง 3 เรื่องต้องไม่ใช่ผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์
2.4 ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาต้องมีผลรวมของ impact factor ไม่น้อยกว่า 5.0 สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์  และไม่น้อยกว่า 2.0 สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์  ในกรณีที่หัวหน้าโครงการมีผลงานอยู่ในสาขาวิชาที่บทความมีค่า impact factor น้อยหรือบทความนั้นอยู่นอกฐานข้อมูล ISI ซึ่งทำให้ไม่สามารถหาค่า impact factor ได้  ทำให้ผลรวมของ impact factor ไม่ถึงเกณฑ์ข้างต้น สกว. จะพิจารณาตามดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารทุน 
2.5 ไม่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่ระดับคณบดีขึ้นไป และมีเวลาทำวิจัยไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
2.6 ในช่วงเวลาที่รับทุน จะต้องไม่รับทุนทำวิจัยหลายโครงการในเวลาเดียวกัน และหากมีความจำเป็นต้องรับทุนจากแหล่งทุนอื่นเพิ่มเติม ต้องแสดงเหตุผลที่ชัดเจนว่าการรับทุนนั้นเป็นการเสริมเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้หมวดงบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน
2.7. สถาบันต้นสังกัดเห็นชอบการสนับสนุนทุนวิจัยตลอดโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
 
3. การประเมินข้อเสนอโครงการและกลไกในการติดตามประเมินผล
3.1 การประเมินข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อจัดสรรทุน เป็นการศึกษารายละเอียดข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ทั้งในด้านวิชาการ งบประมาณ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ โดย "คณะกรรมการประเมินข้อเสนอโครงการ"  และใช้ "ผู้ตรวจสอบข้อเสนอโครงการ" (reviewer) ภายนอกร่วมด้วย ดังนั้นหากกลุ่มผู้เสนอโครงการวิจัยมีความเห็นว่า ควรส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิท่านใดพิจารณา กรุณาระบุท้ายข้อเสนอโครงการด้วย พร้อมทั้งข้อมูลเท่าที่มีเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านและความเกี่ยวพันธ์ (ถ้ามี) กับนักวิจัยในโครงการ โดยเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2-3 ท่าน คณะกรรมการอาจจะใช้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้เสนอโครงการแนะนำมาหรือไม่ก็ได้ ผลการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นประการใด ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด  ผู้ยื่นขอทุนจะอุทธรณ์มิได้  โครงการที่ไม่ได้รับทุนสนับสนุนในการเสนอครั้งแรกอาจนำไปปรับปรุงแล้วเสนอเข้ามาใหม่ได้ ผู้เสนอโครงการที่ผ่านการประเมินในเบื้องต้นจะได้รับเชิญให้มาเสนอโครงการแบบบรรยายต่อคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาการสนับสนุนโครงการ ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ทั้งนี้หากผู้เสนอโครงการไม่สามารถมานำเสนอโครงการด้วยตนเองได้  สกว. ขอสงวนสิทธิถือว่าผู้เสนอโครงการสละสิทธิ์ ทั้งนี้ สกว. ไม่รับการเสนอโครงการผ่านระบบ Skype และเมื่อโครงการผ่านการพิจารณาแล้วจึงจะทำสัญญารับทุน
3.2 การติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยที่ได้รับทุนแต่ละโครงการเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานกับเป้าหมายของแผนการดำเนินงาน รวมทั้งตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแต่ละโครงการวิจัย โดยคณะกรรมการประเมินและผู้ทรงคุณวุฒิ มีการดำเนินการในรูปแบบต่อไปนี้
– หัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการวิจัยด้วยเอกสาร และนำเสนอผลงานแบบบรรยายตามระยะเวลาที่กำหนด
– ตรวจเยี่ยมโครงการ เพื่อรับทราบสภาพการทำงาน ปัญหาอุปสรรค เพื่อให้ข้อแนะนำ และหามาตรการในการแก้ปัญหาได้ถูกต้องและทันเวลา
– จัดประชุมทางวิชาการเพื่อให้หัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุนนำเสนอผลงานแบบบรรยายเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่ง และมีผลงานก้าวหน้าพอสมควร
 
4. วงเงินทุนวิจัย  ระยะเวลาดำเนินการและผลงานที่ได้จากโครงการ
งบประมาณโครงการเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง สกว. และ สถาบันต้นสังกัด ฝ่ายละครึ่งหนึ่งโดยแต่ละหน่วยงานจะจัดสรรทุนให้โครงการละไม่เกิน 1,250,000 บาท รวมงบประมาณโครงการจะไม่เกิน 2,500,000 บาท  ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี  ซึ่งรวมค่าตอบแทนนักวิจัยไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน โดยผู้รับทุนจะต้องมีผลงานตีพิมพ์ที่ได้จากโครงการอย่างน้อย 5 บทความ โดย สกว. เห็นควรสนับสนุนการตีพิมพ์ในวารสารที่จัดอยู่ในควอไทล์ที่ 1-3 ของ ISI Web of Science (SCI)
ทั้งนี้สถาบันต้นสังกัดมีอิสระที่จะเพิ่มทุนในส่วนของตนให้สูงกว่านี้ได้ตามความเหมาะสม และอาจจะแสวงหาความช่วยเหลือเพื่อการนี้จากแหล่งทุนภายนอก
หากผู้เสนอขอรับทุนอยู่ในสถาบันต้นสังกัดที่เป็นสถาบันวิจัย/หน่วยงานต้นสังกัดที่มีภารกิจหลักในการทำวิจัย  สกว. ขอยกเว้นการสนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทนนักวิจัย
ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานวิจัยของโครงการจะต้องสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI Web of Science (SCI) ที่มีค่า impact factor สำหรับสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผลงานวิจัยของโครงการจะต้องมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ สกว. ยอมรับตามเอกสารแนบ หรือผลงานรูปแบบอื่นที่ผ่านการประเมินโดย สกว.
 
5. การทำสัญญารับทุน
สัญญารับทุนเป็นการร่วมลงนาม 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้ทุน (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ผู้รับทุน (สถาบันต้นสังกัดของหัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน) และหัวหน้าโครงการวิจัยผู้รับทุน
ผู้เสนอขอรับทุนที่อยู่ระหว่างการรับทุนจากฝ่ายวิชาการ สกว. และผ่านการพิจารณาข้อเสนอโครงการ ต้องดำเนินการสิ้นสุดโครงการเดิมที่รับทุนก่อน จึงจะสามารถดำเนินการทำสัญญารับทุนใหม่
 
6. เงื่อนไขต่อสถาบันต้นสังกัด
สถาบันต้นสังกัดจะต้องร่วมสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับ สกว. ฝ่ายละครึ่งหนึ่งของงบประมาณโครงการที่ผู้วิจัยเสนอขอ ทั้งนี้สถาบันต้นสังกัดจะไม่หักเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect or overhead cost) ใดๆ ทั้งสิ้น
 
7. การสมัครและกำหนดเวลาเสนอโครงการ
การสมัครขอให้สมัครผ่านทาง http://academic.trf.or.th เท่านั้น โดยกรอกข้อมูลตามที่กำหนด และแนบไฟล์ซึ่งเป็น PDF ไฟล์ ดังนี้
7.1 แบบเสนอโครงการวิจัยซึ่งประกอบด้วยบทคัดย่อ และข้อเสนอโครงการวิจัยที่ได้รับการลงนามจากสถาบันต้นสังกัด โดยให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ (ยกเว้นสาขาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์สามารถเขียนข้อเสนอโครงการเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้)
7.2 หน้าแรกของ reprint ที่เป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี ค.ศ.2009 ถึงปัจจุบัน)
สำหรับข้อมูลประวัตินักวิจัยผู้เสนอรับทุน สกว. จะพิจารณาข้อมูลตามที่ได้บันทึกในเวบไซต์สมัครทุน
อนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการส่งข้อมูลของนักวิจัยจำนวนมากในช่วงปลายของวันกำหนดปิดรับสมัคร ซึ่งอาจจะทำให้ระบบติดขัดได้ จึงขอแนะนำให้ดำเนินการสมัครทุนก่อนถึงวันที่ปิดรับสมัคร  ทั้งนี้ผู้สมัครสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลในระบบได้ภายใน 7 วันหลังจากวันสมัคร
 
เปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันนี้  หมดเขตรับข้อเสนอโครงการ   วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2557 โดยจะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาเบื้องต้นให้ทราบภายใน      วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2558
 
ติดต่อสอบถาม
ฝ่ายวิชาการ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 14 เลขที่ 979 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์  0-2278-8252  E-mail : [email protected]

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: