คลังหาช่องจ้างบริษัทประกันดูค่ารักษาพยาบาลข้าราชการทั้งระบบไม่ให้เกินปีละ 6 หมื่นล้าน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีเงื่อนไขว่าสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการต้องเท่าเดิมไม่มีการลดลงเด็ดขาด และค่าประกันแต่ละปีต้องไม่มากกว่าที่รัฐบาลจ่ายอยู่ในปัจจุบันที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
ภาพประกอบจาก chitkung.wordpress.com
ที่ผ่านมาได้หารือกับบริษัทประกันเอกชนบางรายก็ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นการขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะข้าราชการและครอบครัวที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลมีมากกว่า 5 ล้านคน
“ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการปัจจุบัน 6 หมื่นกว่าล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากบริษัทประกันสามารถรับเงื่อนไขได้ โดยคิดค่าประกันปีละไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท และสิทธิการรักษาข้าราชการเหมือนเดิม กระทรวงการคลังก็พร้อมให้บริษัทประกันมาบริหาร แต่หากไม่ได้ตามเงื่อนไขทั้งสองข้อกระทรวงการคลังก็จะบริหารเองเหมือนเดิมต่อไป” นายสมชัย กล่าว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลการรักษาพยาบาลของข้าราชการจะทำให้การเบิกจ่ายมีความโปร่งใสมากขึ้น จากปัจจุบันยังพบว่ามีข้าราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกต้องอยู่จำนวนมาก ซึ่งกรมบัญชีกลางตรวจสอบเอาผิดได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น
ในปี 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำวิจัยการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าในปี 2556 กองทุนสวัสดิการข้าราชการดูแลข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล 5.95 หมื่นล้านบาท
ขณะที่กองทุนประกันสังคมดูแลประชากรในระบบ 11 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน 3.41 หมื่นล้านบาท และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลประชากรในระบบประมาณ 49 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้มีสิทธิ 1.41 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้รวมเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ 3.27 หมื่นล้านบาท คงเหลือเป็นเงินกองทุน 1.07 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อคิดเป็นค่ารักษาพยาบาลต่อหัวต่อปี สวัสดิการข้าราชการ คนละ 12,534 บาท/ปี กองทุนประกันสังคม (ผู้ประกันตน) คนละ 3,276 บาท/ปี และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) คนละ 2,922 บาท/ปี
ข่าวจาก Posttoday.com
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ