การแก้กฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกจุดกระแสขึ้น ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมชูนโยบายปฏิรูปประเทศ
ทั้งนี้นโยบายที่เกี่ยวกับท้องถิ่นเริ่มจากประกาศ ม.44 งดการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระ แล้วใช้วิธีคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำหน้าที่แทน ต่อมา คสช.ได้ออกคำสั่งฉบับใหม่ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระกลับมาปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิมจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง
ล่าสุด ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …ผ่านประชามติไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ "ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ถูกจับตาจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นสั่นสะเทือนเรื่องการยุบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และการกำหนดเกณฑ์จำนวนประชากร เพื่อนำไปสู่การควบรวมพื้นที่เป็นเทศบาล
ให้ อปท.ใช้กฎหมายฉบับเดียว
สำหรับการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …นั้น เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวกับท้องถิ่นมีจำนวนหลายฉบับ ทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องยกเลิกไป ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 พร้อมกับรวบรวมกฎหมายดังกล่าวมาจัดทำเป็นประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ใช้อยู่ในฉบับเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน
โดยมีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และเป็นนิติบุคคล ส่วนกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และแนะนำการบริหารงานของ อปท.
ขณะที่การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรไม่เกิน 15,000 คน
2. เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรเกิน 15,000 คน แต่ไม่เกิน 50,000 คน ทั้งนี้ไม่รวมเทศบาลเมืองตามกฎหมายจัดตั้งที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่กฎหมายนี้บังคับใช้
3. เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรเกิน 50,000 คนขึ้นไป 4.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้จังหวัดหนึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีเขตพื้นที่ตามจังหวัดนั้น เป็นการลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ
ที่สำคัญยังกำหนดให้มีการควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ ไม่รวมเงินอุดหนุน ต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่า 7,000 คนเข้าด้วยกัน หรือเทศบาลแห่งอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันในอำเภอเดียวกัน ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประมวลกฎหมาย อปท.มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณไม่พอต่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งข้อมูลรายได้ของ อปท. ประจำปีงบประมาณ 2557 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า รายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนของ อปท.ที่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท พบว่าเป็นเทศบาล 1,126 แห่ง อบต. 4,339 แห่ง รวม 5,465 แห่ง สูงถึงร้อยละ 69.59 ของ อปท.ทั้งประเทศ
นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย
ร่างกฎหมายรอเข้า ครม.
"เกรียงยศ สุดลาภา" โฆษกกรรมาธิการด้านการปกครองท้องถิ่น เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายเพิ่งผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ได้นำกลับเข้ามาเพื่อปรับปรุงแก้ไขบางส่วน
ซึ่งจะได้นำส่งให้คณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากนั้นจะนำกลับมารับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน เพื่อที่จะส่งเข้า ครม.พิจารณาส่งเข้า สนช.ต่อไป
"คาดว่ากว่าจะนำเข้า ครม. หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขั้นตอนน่าจะไม่เกิน 60 วัน ซึ่งจริง ๆ ยังสามารถแก้ไขได้อีก ที่เห็นท้องถิ่นแสดงความเห็นระยะนี้ เพราะบางทีมีข่าวออกไปก็จะพูดต่อ ๆ กัน ถ้ารับฟังจากทาง สปท.ก็จะดีกว่า แต่อย่างไรเราก็ยินดีรับฟังถ้าใครมีความเห็น"
โฆษกกรรมาธิการกล่าวอีกว่า การพูดว่ายุบ อบต.เป็นคำที่รุนแรงเกินไป น่าจะใช้คำว่ายกฐานะให้เป็นเทศบาล ซึ่งมองว่าการบริหารจะดีขึ้น งบประมาณที่ลงไปก็มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้บริหาร ลูกจ้างก็ยังใกล้เคียงกับของเดิม อีกทั้งเราจะให้ประชาชนของท้องถิ่นนั้น ๆ มีส่วนร่วมในการเสนอแผนด้วย เรียกว่าเป็นประชาคมท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นคนลงไปตรวจสอบการทำงานของเทศบาลในอนาคตด้วย ซึ่งท้องถิ่นจะเข้มแข็งแท้จริง แต่อาจจะต้องใช้เวลา
"การแก้ไขกฎหมายนี้ ไม่ได้ตั้งใจไปจับผิดใคร ถ้าให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างน้อยโครงการต่าง ๆ ที่ออกไปก็คือความต้องการของประชาชนจริง ๆ เพราะบางทีต้องการทำบึงน้ำ แต่ประชาชนไม่ต้องการ ฉะนั้นต่อไปจะได้ตามที่ประชาชนต้องการและตรวจสอบได้ ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นท่านใดที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเลย"
ขณะที่ล่าสุด สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กำลังเร่งหาข้อสรุป เกี่ยวกับเนื้อหาที่ต้องการแก้ไข เพื่อจะนำไปพูดคุยกับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯอีกครั้ง เพื่อให้หลักการตรงกับเจตนารมณ์ในการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นการกำหนดอนาคตของท้องถิ่นและประชาชนในภูมิภาค
ข่าวจาก : prachachat.net
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ