ใครเคยเป็นบ้างค่ะ “ตุ่มน้ำพอง ข้างในมีน้ำใสๆอยู่” เห็นแล้วก็อดใจที่จะจิ้มให้แตกไม่ได้ แต่ในทางที่ถูกต้องแล้วควรเจาะให้แตกหรือปล่อยทิ้งไว้? แบบไหนจะหายเร็วและเจ็บน้อยมากกว่ากัน? ถ้าคุณยังไม่ทราบ เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
แผลที่เป็นตุ่มน้ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ถูกรองเท้ากัดจนพอง หรือถูกน้ำร้อนหรือไอร้อนลวก เป็นต้น ซึ่งตุ่มน้ำใสๆ ที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง น้ำที่อยู่ในตุ่มเป็นน้ำส่วนที่สะอาด มีไว้เพื่อรองรับการแยกตัวของผิวชั้นนอกกับผิวชั้นใน
ระหว่างเจาะตุ่มพองใสให้แตกหรือปล่อยทิ้งไว้ ทำแบบไหนดีกว่า?
การที่ผิวเป็นตุ่มน้ำอยู่ แล้วเราไม่ไปเจาะออก ก็หมายความว่า เราไม่ทำให้เกิดเป็นช่องเปิดให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปได้ ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ในทางตรงข้าม เมื่อใดที่เราไปเจาะหรือเลาะเอาผนังของตุ่มน้ำออก ตุ่มน้ำก็จะกลายเป็นแผลเปิด ซึ่งย่อมทำให้รู้สึกเจ็บแสบเวลาโดนน้ำหรือเป็นการเพิ่มความทรมานมากกว่าเดิม
แต่ถ้าถามว่า “สามารถเจาะได้มั้ย?” คำตอบก็คือ “ทำได้” แต่ถ้าทำไปแล้วก็จะรู้สึกทรมานมากกว่าเดิม ดังนั้น หากตุ่มไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ไม่ได้ขัดขวางการใช้ชีวิต ก็ควรปล่อยให้ร่างกายบริหารจัดการและซ่อมแซมตัวเองไปเถอะค่ะ ใช้เวลาไม่นานผิวของตุ่มน้ำนั้นมันก็จะลอกออกไปโดยที่เราไม่เจ็บเลยแม้แต่น้อย เพราะของเหลวในตุ่มจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันผิวหนังใหม่ที่ขึ้นมาทดแทน ดังนั้น การมันไว้ย่อมเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า
วิธีดูแลแผลโดยไม่เจาะตุ่มน้ำออก ก็คือ
1. ล้างแผลด้วยสบู่และล้างออกด้วยน้ำเปล่า และซับให้แห้ง
2. แต้มปิโตรเลียมเจลเพียงเล็กน้อย หรือทาด้วยวุ้นว่านหางจระเข้ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งตึง
[ads]
แต่ถ้าท่านใดมีตุ่มใสที่ใหญ่มาก จนทำให้ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น เช่น ใส่รองเท้าไม่ได้ หยิบจับสิ่งของยากลำบาก ก็อาจจะต้องเจาะตุ่มออก ด้วยวิธีและเทคนิคที่จะทำให้แผลหายเร็ว ดังต่อไปนี้ค่ะ
วิธีเจาะตุ่มน้ำที่ปลอดภัย แผลหายไวที่สุด
1. เตรียมอุปกรณ์การเจาะที่ปราศจากเชื้อ เป็นเข็มที่สเตอริไรส์ (Sterilize) เช่น เข็มฉีดยา เป็นต้น หรือถ้าหาไม่ได้ก็อาจใช้เป็นเข็มเย็บผ้าที่สะอาด ไม่มีสนิม ผ่านการฆ่าเชื้อโดยแอลกอฮอล์ และนำไปเผาไฟฆ่าเชื้อโรคก่อน (จับเข็มไปจ่อเปลวไฟโดยตรงจนกระทั่งเข็มเป็นสีแดง แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น)
2. ล้างตุ่มพองด้วยน้ำยาทำความสะอาดผิวหนังหรือยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน (Betadine)
3. ค่อยๆเจาะเข็มเพียงรูเดียวบริเวณขอบ โดยดันเข็มในลักษณะเอียงเข้าไปข้างใน และบีบเอาน้ำออกมาให้หมด ระวังอย่าให้ผิวหนังด้านบนฉีกขาด และไม่ต้องลอกหนังส่วนที่พองออก
4. ทาแผลด้วยยาแดงหรือยาใส่แผลสด
5. ใช้ผ้าก๊อซนุ่มๆ ปิดแผล ควรทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนผ้าก๊อซแผ่นใหม่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งจนกว่าจะหาย
ข้อควรระวัง : ควรเอาผ้าออกอย่างเบามือและระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังฉีกขาด
6. เปิดแผลไว้ตอนกลางคืน เพื่อปล่อยให้แผลสัมผัสอากาศซึ่งจะช่วยให้หายเร็วขึ้น
7. พยายามอย่าให้แผลเปียกน้ำ
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ เมื่อผิวหนังเกิดตุ่มพอง ก็คือ สังเกตขนาดก่อน ว่าเป็นตุ่มพองขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ถ้าดูแล้วไม่น่าจะแตกไม่ทำให้ร่างกายลำบาก ก็ไม่จำเป็นต้องยุ่งกับตุ่มพองนั้น และควรปล่อยให้มันยุบและแห้งไปเอง ดีกว่าการไปเจาะให้มันแตก ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเป็นแผลเป็นได้ในภายหลัง
เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจวิธีการรักษาอาการตุ่มพองมากขึ้นแล้ว ต่อไปนี้ก็คงรักษากันอย่างถูกวิธี และไม่ปล่อยให้แผลอักเสบหรือหายยากต่อไปกันอีกแล้วใช่มั๊ยค่ะ ลองเอาไปใช้กันดูนะถ้าเกิดว่ามีแผลขึ้นเมื่อไหร่จะได้หายเร็วทันใจ
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก manager.co.th และ chivitchiva.com
[ads=center]
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ