25 มกราคม 2560 นางสิรินทร รามสูต อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และอดีตกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งข่าวความคืบหน้าโครงการการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง 160 กม./ชั่วโมง จากเมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว และเชื่อมสะพานมิตรภาพไทยลาว จ.หนองคาย ตัดผ่านไทยไปประเทศมาเลเซีย และไปยังสิงคโปร์ เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาของจีน เชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานทั่วเอเชีย หรือที่รู้จักในชื่อยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” หรือ 1 แถบ 1 เส้นทาง หรือวิชาการเรียกว่า “บูรพาภิวัตน์” ได้เริ่มลงมือก่อสร้างไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา และจะเสร็จใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อ จ.น่าน พะเยา แพร่ และอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมสายบ้านจอมเพชร เชียงแมน ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงของหลวงพระบาง – เมืองหงสา – ด่านน้ำเงิน(ด่านห้วยโก๋น) แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ระยะเพียง 137 ก.ม. ล่าสุดกำลังมีแผนพัฒนาเมืองเศรษฐกิจและศูนย์ราชการใหม่แทนหลวงพระบาง ที่ไม่สามารถขยายหรือพัฒนาเมืองได้อีก เนื่องจากติดเงื่อนไขเมืองมรดกโลก ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบนี้ไว้
รายงานระบุว่า เส้นทางดังกล่าวโดยการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) มูลค่ารวม 840 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินช่วยเหลือ 30% เงินกู้ 70% (เงินกู้ตามสัญญา Loan No.NECF/L-002) มีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งของลาว เป็นหัวหน้าโครงการ และบริษัท AEC/LTEC เป็นที่ปรึกษาโครงการ และบริษัทแพร่ธำรงวิทย์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และกำลังจะเปิดใช้เร็วๆนี้ เช่นเดียวกับกับบริษัทร่วมทุนผลิตไฟฟ้า หงสาเพาเวอร์ ร่วมกับรัฐบาลลาวได้พัฒนาเมืองหงสา ทั้งระบบสาธารณูปโภคและจัดผังเมืองไว้รองรับความเจริญ โดยเฉพาะสะพานปากแบ่งข้ามแม่น้ำโขง สำหรับเชื่อมระหว่างแขวงอุดมไชย ทางเหนือของ สปป.ลาว กับแขวงไชยบุรีและแขวงหลวงพระบาง ก็ได้สร้างเสร็จแล้วเช่นเดียวกัน เป็นจุดยุทธศาสตร์ใกล้ จ.น่าน มากที่สุด
“เมื่อรถไฟจีน – ลาวมาถึง และกำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคเหนือตอนบนของลาว 3 – 5 ปีนี้ จะเป็นโอกาสไทยทั้งในแง่บวกและผลกระทบ ที่มีเวลาสำหรับเตรียมตัววางมาตรการรองรับและป้องกันไว้พร้อมกัน โดยเฉพาะ จ.น่านที่อยู่สุดเขตชายแดนล้านนาตะวันออก มีเส้นทางตรงและใกล้ที่สุดสายบ้านจอมเพชร เชียงแมน กำลังสร้างสะพานเชื่อมต่อท่องเที่ยวกับหลวงพระบาง หรือกับอีกเส้นทางคือไชยบุรี ข้ามสะพานท่าเดื่อที่สร้างเสร็จแล้วเข้าสู่หลวงพระบางได้เลย” นางสิรินทรกล่าวและว่า เมืองน่านจะได้อานิสงค์ส่วนแบ่งจากระบบรถไฟดังกล่าว คาดว่าหลังจากสร้างเสร็จแล้วระยะแรกจะมีทั้งชาวมาเลเซีย – สิงคโปค์ ส่วนมากจะเป็นชาวจีนใช้บริการปีละ 10 ล้านคน ระยะหลัง 16 – 17 ล้านคน จำนวนหนึ่งจะลงใช้เส้นทางรถยนต์ต่อเข้า จ.น่าน ไปพะเยา แพร่ เพื่อท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปะ – วัฒนธรรม
ข่าวจาก : หนังสือพิมพ์มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ