เงินเดือนแค่3พัน แต่บริจาคที่ดินถึง 6ไร่!! ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ด้วยเหตุผลที่ซึ้งใจยิ่ง





คุณป้าชาวสวนร่างเล็ก แต่หัวใจใหญ่ บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวอย่างเป็นกันเองว่า ที่ดินผืนงามขนาด 6 ไร่ที่เธอบริจาคให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนานั้น เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งที่ผ่านมา ที่ดินผืนนี้ ป้าสีได้ปล่อยให้ชาวบ้านในละแวกนั้น เช่าพื้นที่ของเธอเพื่อปลูกข้าวและปลูกชมพู่ โดยมีค่าสัญญาเช่าเป็นรายปี ปีละ 8,000 บาท แต่ด้วยความที่บางปีพื้นที่บริเวณนั้นประสบปัญหาน้ำท่วม หรือบางปีก็แห้งแล้งกันดารจนไม่สามารถปลูกพืชใดๆ ได้ ป้าสีจึงเกิดความเห็นใจในหัวอกเกษตรกรเหมือนกัน จึงลดค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าเหลือเพียงปีละ 5,000 – 6,000 บาทเท่านั้น

นอกจากรายได้จากการปล่อยให้เช่าที่ดินแล้ว ป้าสียังมีรายได้จากการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ยี่หร่า, สะระแหน่, บัวบก, มะตูมแขก คิดเป็นรายได้ประมาณเดือนละ 3,000 บาท

 

 

 

 

“เงิน 3,000 บาทต่อเดือน พอใช้หรือคะ?” ผู้สื่อข่าวถามป้าสีที่นั่งกุมมือ ด้วยท่าทีนอบน้อมอยู่ตรงหน้า “พออยู่ได้นะจ๊ะ ป้ายึดตามแบบเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 มาตลอด และป้าก็ไม่รู้ว่า ป้าจะต้องใช้ชีวิตหรูหราไปทำไม ในเมื่อมีพอกินพอเก็บก็มีความสุขดีอยู่แล้ว” ป้าสีคิดอย่างไรก็ตอบเช่นนั้นไม่ซับซ้อน

“รายได้จำนวนนี้จะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ ซื้อยารักษาโรค หรือคะ?” ผู้สื่อข่าวถามย้ำป้าสีอีกครั้งด้วยความข้องใจ

“ป้าอยู่เป็นโสด ไม่มีลูกไม่มีสามีจ้ะ ภาระค่าใช้จ่ายของป้าก็เลยไม่มากมายเหมือนใครๆ ส่วนที่ต้องเสียเงินซื้ออยู่เนืองๆ ก็เป็นพวกเครื่องครัว เช่น น้ำปลา น้ำตาล อะไรเทือกๆ นี้ และก็มีพวกข้าวของเครื่องใช้ เช่น ยาสระผม สบู่ ยาสีฟัน ส่วนค่ารักษาพยาบาลก็ฟรี ป้าอาศัยไปโรงพยาบาลรัฐเช้าหน่อยๆ นอกนั้นก็ไม่มีอะไร เพราะถ้าอยากกินอะไร ป้าก็ปลูกเองเลี้ยงเองรอบๆ บ้านเอา แค่นี้ชีวิตป้าก็มีความสุขมากโขแล้วจ้า” ป้าสีตอบอย่างอารมณ์ดี

“แล้วทำไมจู่ๆ คุณป้าถึงมีความคิดที่จะยกที่ดินให้มูลนิธิชัยพัฒนา?” ผู้สื่อข่าวถามป้าสีถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต

“ป้ายอมรับนะว่า ป้านั่งคิดนอนคิดเรื่องนี้มาค่อนปี ไม่ใช่แค่คิดเพียงคืนสองคืนก็ตัดสินใจยกที่ดินให้เขาไป มันเริ่มเรื่องมาจากที่ว่า เมื่อ 4-5 ปีก่อนมีญาติของป้าคนหนึ่ง เขายกที่ดินของเขาให้วัด ซึ่งตัวที่ดินของเขาอยู่ติดรั้ววัดเลย วัดก็เลยเอาที่ดินไปทำประโยชน์อื่นๆ ได้ทันที และในวันที่เขาไปยกที่ดินให้แก่วัด เขาก็เชิญป้าไปร่วมบุญด้วย ป้าก็มีโอกาสไปร่วมอนุโมทนาบุญกับเขา ตอนนั้น ป้ารู้สึกอิ่มเอมใจและชื่นชมในคุณงามความดีของเขามากๆ” ป้าสีย้อนเล่าถึงแรงบันดาลใจครั้งสำคัญ

“พอป้ากลับมาบ้าน ป้าก็มานั่งทบทวนถึงชีวิตตัวเอง ก็มาเจอะว่า ป้าเองก็ตัวคนเดียวไม่มีภาระอะไร เรี่ยวแรงกำลังวังชาก็นับจะลดน้อยถอยลงทุกวัน ทุกวันนี้เราอยู่อย่างพอเพียง มีเก็บ มีกิน มีความสุข เรามีที่ดินที่เก็บไว้เป็นสมบัติมานมนานก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มากนัก หากวันหนึ่งยกให้คนที่เขาจะเอาไปทำประโยชน์ได้มากกว่าป้า ป้าก็คงจะดีไม่น้อยอะจ้ะ” ป้าสียิ้มกว้างจนเห็นเหงือกทั้งแผง

“ป้าก็เลยเอาความคิดนี้ไปถามญาติพี่น้องร่วมท้องทุกคน นับตัวป้าที่เป็นน้องคนสุดท้อง คือคนที่ 9 พี่ๆ ทั้ง 8 คนเขาก็เห็นดีเห็นงามกับเราด้วย ไม่มีใครคัดค้านความคิดป้าเลย เพราะพวกพี่ๆ เขาก็คงเห็นว่า ป้าตัดสินใจมาดีแล้ว และเขาคงคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีของครอบครัวเรา จากนั้น ป้าก็ตัดสินใจบริจาคที่ดิน 6 ไร่ อย่างน้อยป้าก็ยังมีที่ดินอีก 3 ไร่ที่เป็นบ้านของป้า หากจะทำไร่ทำสวนเลี้ยงชีพต่อไป ก็ยังทำได้อยู่ไม่ติดขัด แล้วพวกพี่ๆ เขาก็พาป้าไปแจ้งความประสงค์ที่อำเภออีกด้วยจ้ะ” ป้าสีพูดคล่องขึ้น และมีอาการประหม่าลดน้อยลงจากช่วงแรกที่คุย

“แล้วทำไมป้าสี ถึงเลือกที่จะบริจาคให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ทำไมไม่เป็นหน่วยงานอื่น?” ผู้สื่อข่าวถามป้าสีที่นั่งกำลังนั่งยิ้มอย่างมีความสุขอยู่ตรงหน้า

“ตอนแรกป้าก็ไม่รู้จะไปบริจาคที่ไหน จะบริจาคให้วัดก็ไม่ได้อีก เพราะที่ดินป้าก็ไม่ได้ติดวัด แต่มานั่งคิดๆ ดู คิดวกวนสารพัด ป้าก็คิดว่า ป้าอยากบริจาคให้กับคนที่เขานำที่ดินไปทำประโยชน์ได้จริงๆ มานั่งนึกดูๆ ป้าก็มีหนึ่งคนที่ป้ารักและเทิดทูนมาตลอดทั้งชีวิต นั่นก็คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ป้าสีหยุดพูด ก่อนจะยิ้มกว้างที่สุดตั้งแต่คุยกันมานานหลายนาที

“เมื่อตัดสินใจได้แน่นอนแล้ว ป้ากับญาติพี่น้องก็เข้าไปแจ้งความประสงค์ที่อำเภอเลยจ้ะ ประมาณ 2 เดือนถัดมา ทางอำเภอเขาก็เข้ามาที่บ้านป้า เจ้าหน้าที่เขาก็มาดูสภาพความเป็นอยู่ของป้า เขาไปดูที่ดินที่ป้าจะบริจาค มาดูบ้านป้า เขาคงมาดูว่า ถ้าป้าตัดสินใจบริจาคไปแล้ว ป้าจะเดือดร้อนหรือลำบากหรือเปล่า เขาคงเป็นห่วงป้า” ป้าสีบอกเล่าถึงกระบวนการต่างๆ ก่อนที่ป้าจะทำการบริจาคที่ดิน

“จากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ของทางสํานักราชเลขาธิการก็เข้ามาหาป้าที่บ้าน เขามาดูบ้าน ดูที่ดิน ดูแปลงผัก แล้วเขาก็ยังถามสารทุกข์สุกดิบป้าด้วย เขาถามป้าด้วยนะว่า ที่ดินมันมีสองแปลงติดกัน ทำไมป้าไม่เอาแปลงใดแปลงหนึ่งไปขาย เพราะในอนาคตป้าจะได้มีเงินเก็บไว้ใช้คราวจำเป็น แต่ป้าก็ตอบเจ้าหน้าที่เขาไปนะว่า ป้าพร้อมหมดทุกอย่างแล้วจ้ะ ป้าตัดสินใจมาอย่างดีแล้ว ถึงแม้ว่าป้าจะเก็บที่ดินเอาไว้ แข้งขาป้าก็ไม่ค่อยดี เรี่ยวแรงป้าก็นับจะถดถอยลงทุกวัน ถ้าเอาไปขาย เงินที่ได้มาก็ได้แต่เอามาเก็บไว้ คงไม่ได้ใช้อะไร ทุกวันนี้ก็พออยู่พอกินมีความสุขอยู่แล้ว หากมีคนนำที่ดินของป้าไปทำประโยชน์ให้คนอื่นต่อๆ ไป ป้าคงมีความสุขกว่านี้หลายเท่าเลยจ้ะ” ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นน้ำตาแห่งความสุขของป้าสีคลอเบ้า

“ชาวบ้านในละแวกนั้นมีคนติติงเราไหมคะคุณป้า ว่าทำไมคุณป้าถึงตัดสินใจเช่นนี้ แทนที่จะเก็บไว้ให้หลานๆ หรือนำไปขายเพื่อเอาเงินมาใช้?” ผู้สื่อข่าวถามถึงนิสัยเนื้อแท้ของมนุษย์ในสังคม

“มีจ้ะ” ป้าสีพูดพลางหัวเราะร่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะกล่าวต่ออีกว่า “ญาติๆ ส่วนใหญ่ที่เขารู้จักนิสัยใจคอป้ามานาน เขาก็จะเข้ามาชื่นชม มาร่วมอนุโมทนาบุญไปกับเราด้วย แต่ป้าก็มีได้ยินเข้าหูมาอยู่บ้างว่า มีคนเขาหาว่าเราบ้า เอาที่เอาทางไปบริจาค แทนที่จะเอาไปขายแลกเงิน แต่ป้าก็ไม่คิดโกรธอะไรชาวบ้านเขาหรอก เพราะสิ่งที่ป้าทำคือสิ่งที่ดีจ้ะ” ป้าสีตอบสั้นๆ อย่างซื่อๆ

 

 

“คุณป้า เคยมีโอกาสพบสมเด็จพระเทพฯ ไหมคะ” ผู้สื่อข่าวถามคุณป้า ชาวสวนวัย 57 ปี ที่ยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอดทั้งชีวิต “ไม่เคยๆ” ป้าสีส่ายหน้า พร้อมบอกเล่ากับผู้สื่อข่าวด้วยว่า “ก่อนที่พ่อกับแม่ของป้าจะตาย ทั้งช่วงชีวิตของเขา เขายึดเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตตลอด จนลูกอีก 9 ชีวิตก็จดจำและนำมาใช้ตาม ดูได้จากทุกวันนี้ ลูกของพ่อทุกคนจะใช้ชีวิตกันแบบมีแค่ไหนก็กินเท่านั้น เหลือจากกินก็เก็บไว้ใช้คราวจำเป็น เรากินของที่ปลูกเอง ไม่ต้องไปวิ่งหาซื้อ เรามีความสุข ทุกวันนี้เรามีกับข้าวกับปลาอะไร เราบ้านพี่บ้านน้องก็เดินถือมานั่งกินล้อมวงที่บ้านป้า เราทำอย่างนี้กันทุกวัน” แววตาป้าสีทอประกายอย่างมีความสุข

“ถ้าหนูจะถามป้าว่า เคยเจอสมเด็จพระเทพฯ ไหม ก็นั่นแหละที่ป้าตอบไป คือ ไม่เคย เรามันชาวบ้านธรรมดาๆ จะมีโอกาสดีๆ เหมือนคนอื่นๆ เขาได้อย่างไร แต่ทางเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เขาก็บอกกับป้านะจ๊ะว่า อีกไม่นาน ป้าจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพฯ และถ้าเรื่องที่เขาบอกเป็นความจริง ป้าคงตายตาหลับ เพราะป้าถือว่า การเข้าเฝ้าฯพระองค์ท่าน ถือเป็นบุญเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างป้าแล้วลูกเอ้ย” ป้าสี ฉิมสุวรรณ์ พูดพลางยกมือประนมขึ้นท่วมหัว

ข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: