เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมพระพทุธบาทบัวบก ชั้น 6 อาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายสุชัย บุตรสาระ รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการควบคุมการขอทานจังหวัดอุดรธานีโดยมีนายปราโมทย์ ธัญพืช ปลัดจังหวัดอุดรธานี นายภูมิพัฒน์ ธนาสิทธิ์ตานนท์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จ.อุดรธานี นำหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เป็นคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมทั้งมีการแจ้งให้แต่ละหน่วยงานรับทราบอำนาจหน้าที่ แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้กระทำการขอทาน แผนบูรณาการจัดระเบียบคนขอทาน จ.อุดรธานี ประปีงบประมาณ 2560
นายภูมิพัฒน์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.อุดรธานี กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศใช้ 27 มาตรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ขอทานคือผู้กระทำความผิดตามมาตรา 19 จำคุก 1 เดือน หรือปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้สนับสนุนให้ฝ่าฝืน หรือผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 3 หมื่นบาท และหากกระทำต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วย โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 5 หมื่นบาท ถือเป็นโทษที่หนักขึ้น และจะเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อบำบัดฟื้นฟู พัฒนาทักษะชีวิต พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างโอกาสการดำรงชีวิตอยู่ด้วยตนเองอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี ตามนโยบายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจะดำเนินการตามแผนงานต่อไป
"ประเด็นหนึ่งที่เรากำลังเร่งดำเนินการ คือ การออกบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ หรือเรียกง่ายๆว่าบัตรประจำตัววณิพก ที่อยู่ใน จ.อุดรธานี หากมีความประสงค์ที่จะทำการแสดงความสามารถต่างๆ เช่น การเล่นดนตรี การเล่นมายากล การโชว์ต่างๆ ที่เป็นรูปแบบการรับบริจาค หรือเปิดหมวก ต้องมีการทำบัตรนี้ หากไม่มีขณะเรียกตรวจถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ขอทาน ล่าสุดมีผู้มายื่นคำขอแล้ว 10 ราย ออกบัตรแล้ว 6 ราย กำลังดำเนินการ 4 ราย หากผู้ใดที่ประสงค์จะทำบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถให้มาติดต่อที่ สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.อุดรธานี ได้โดยตรง"
นายสุชัย บุตรสาระ รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า วณิพกหรือการแสดงเปิดหมวกไม่ใช่การขอทาน มาตรการนี้จะเป็นการจัดระเบียบผู้แสดงความสามารถไปในตัว ต่อไปนี้ทุกการแสดงที่มีการเปิดหมวกหรือรับบริจาค ผู้แสดงต้องมีบัตรนี้ทุกคน ซึ่งขั้นตอนการขอบัตรนั้นไม่ยุ่งยาก ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะต้องมีการแสดงความสามารถนั้นต่อคณะกรรมการออกบัตร เพื่อคัดกรองบุคคลด้วยว่ามีความสามารถจริงหรือไม่ หรือเอาบัตรไปแอบอ้างหรือไม่ จากรายงานการเข้าตรวจสอบงานกาชาดและงานมหกรรมผ้าทอมือที่ผ่านไปนั้น ไม่พบขอทานในงานแม้แต่รายเดียว พบการแสดงความสามารถ 7 ราย มีบัตร 3 ราย ไม่มี 4 ราย และที่มีบัตรก็เป็นบัตรที่ได้รับอนุญาตจากจังหวัดอื่น
"วณิพกหรือผู้ที่แสดงเปิดหมวกหลายท่านยังไม่ทราบข้อมูลนี้ อยากประชาสัมพันธ์ว่า หากผู้ใดมีญาติ คนรู้จัก ที่มีอาชีพลักษณะนี้ ช่วยแจ้งข้อมูลนี้ด้วยว่า ต้องรีบไปทำบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถทุกคน หากไม่มีถือว่ามีความผิด และผู้ที่มีบัตรแล้วหากจะแสดงความสามารถก็ต้องทำการขออนุญาตท้องถิ่นนั้นๆ ก่อนทำการแสดงทุกครั้งด้วยเช่นกัน บัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถจะเป็นการยกระดับอาชีพนี้ จะเป็นมาตรฐานตามหลักสากล และยังคัดกรองผู้ที่กระทำผิด พ.ร.บ.ขอทาน ด้วย"
ข่าวจาก : Nation TV
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ