มันไม่ใช่แค่ข่าวลือ?! เปิดตำนานขุมทรัพย์ช่วงสงครามโลก 5 แห่งที่ว่ากันว่า”มันมีจริง-ยังไม่หายไปไหน!!”





หลายคนคงพอจะได้ยินเรื่องเล่าปากต่อปากกันมาบ้างว่าขุมทรัพย์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีมากมายกระจัดกระจายไปทั่วโลก อย่างในไทยที่เคยดังมากๆ ก็เช่น "ถ้ำลิเจีย" ที่ว่ากันว่าทหารญี่ปุ่นเคยใช้เก็บทองคำจำนวนมาก แต่พอเจาะเข้าไปจริงๆ กลับไม่พบเจออะไร ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อยมาทุกวันนี้ ว่าถ้ำแห่งนั้นอาจจะมีจริงๆ หรือเป็นความเข้าใจกันคลาดเคลื่อน หรือก็แค่เรื่องเล่าที่ไม่มีจริงเลย!

และ 5 ขุมทรัพย์ต่อไปนี้ก็มีเรื่องราวที่ไม่ต่างอะไรกับถ้ำลิเจียในไทยสักเท่าไหร่ ยังมีหลายคนที่เชื่อว่ามีอยู่จริง และบางคนก็เชื่อด้วยว่าปัจจุบันก็ยังมีอยู่!! เพียงแต่อะไรไม่รู้พรางตาไม่ให้เจอง่ายๆ แค่นั้น!!

รถไฟขนทองคำนาซี
ช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่กองทัพโซเวียตทำการรุกคืบเพื่อตีโต้กองทัพนาซีเยอรมัน โดยด่านหน้าในขณะนั้นคือเมืองวอร์คลอว์ ประเทศโปแลนด์ กองทัพนาซีมีคำสั่งส่งรถไฟหุ้มเกราะเพื่อไปขนทองคำจากเมืองวอร์คลอว์ เพื่อไม่ให้กองทัพโซเวียตได้ทองคำที่ประเมินค่ามิได้ไป กล่าวกันว่าทองคำแท่งที่ขนไปมีมากถึง 23 ลังเลยทีเดียว และนับตั้งแต่นั้นก็ไม่มีใครเห็นรถไฟขบวนดังกล่าวอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2015 นักสำรวจได้ออกมาประกาศว่าพบรถไฟขบวนดังกล่าวในอุโมงค์ลับแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่มีประกาศชัดเจนว่าเป็นที่ใด

 

 

ห้องอำพัน
ห้องอำพันแห่งนี้ถูกประดับด้วยทองคำและเรซิน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกประกาศให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก’ ก่อนถูกปล้นโดยกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ห้องอำพันที่ว่าตั้งอยู่ภายในพระราชวัง Catherine ของสหภาพโซเวียต ที่กล่าวกันว่าใช้อำพันมากถึง 6 ตัน!

ในปี ค.ศ.1941ขณะที่กองทัพนาซีรุกรานโซเวียต ทางการเครมลินมีคำสั่งให้ปกป้องห้องอำพันดังกล่าวโดยการใช้วอลเปเปอร์ปกปิดอำพัน แต่ไม่อาจป้องกันการตรวจพบจากกองทัพนาซีได้ อำพันทั้งหมดถูกรื้อถอนและขนย้ายไปยังปราสาทโคนิคเบิร์ก ที่ตั้งอยู่ในแคว้นปรัสเซียตะวันออก

อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพแดงตีโต้กลับมา ก็ไม่มีใครพบเห็นอำพันเหล่านั้นอีกเลย ว่ากันว่าอำพันเหล่านั้นถูกเคลื่อนย้ายโดยเรือเดินสมุทรของนาซีเยอรมัน Wilhelm Gustloff ที่อับปางลง

 

 

ทองคำยามาชิตะ
เป็นขุมสมบัติของกองทัพญี่ปุ่นที่ปล้นมาจากดินแดนในแถบตะวันออกเฉียงใต้ และถูกนำไปซ่อนในถ้ำใต้ดินของประเทศฟิลิปปินส์ หลังสงครามโลกจบสิ้นลง โดยชื่อของทองคำมาจากนายพลชาวญี่ปุ่น โทโมยูกิ ยามาชิตะ ที่ต้องการระดมทุนเพื่อรบในสงคราม กล่าวกันว่าผู้เกี่ยวข้องในสมบัติต่างล้มตายในสนามรบ บางส่วนก็ถูกสังหารเพื่อปิดปาก

ในปี ค.ศ.1971 นักล่าสมบัตินามว่า โรเจลิโอ โรซัส อ้างว่าค้นพบขุมทรัพย์ดังกล่าวที่หายไปในถ้ำแห่งหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวกันว่ามันมีมูลค่ามากถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ ก่อนถูกยึดโดยคำสั่งประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และสั่งปกปิดสถานที่ค้นพบทองคำเป็นความลับ

มีข่าวลือว่าทางการสหรัฐอาจครอบครองสมบัติดังกล่าวบางส่วน ตามข้อเสนอของทางการญี่ปุ่นหลังสงครามโลกสิ้นสุดด้วยเหตุผลบางประการ

 

 

ขุมทรัพย์ป้อมอัลไพน์
ป้อมอัลไพน์ แคว้นบาวาเรีย คือฐานที่มั่นสุดท้ายของกองทัพนาซี ที่เชื่อว่ามีทองคำและเพชรพลอยจำนวนมากถูกซ่อนอยู่ ภายใต้การควบคุมของ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้นำหน่วย SS เพื่อใช้สนับสนุนกองกำลังกลุ่มสุดท้ายของนาซีในป้อมแห่งนี้ กล่าวกันว่าสมบัติเหล่านี้ถูกใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนหน่วยจูโจมพิเศษ Werwolf เพื่อก่อกวนและสกัดกั้นข้าศึกในแนวหน้า

กล่าวกันว่าสมบัติเหล่านั้นยังคงถูกซ่อนอยู่ในพื้นที่แคว้นบาวาเรีย ที่ถูกปกป้องด้วยกับดักระเบิดนานาชนิด

 

 

เรือเดินสมุทรเอวะ มารุ
เรือเอวะ มารุ เป็นเรือกาชาดเพื่อช่วยเหลือ และส่งเสบียงให้แก่เชลยศึก ในปี ค.ศ.1945 หลังจากเรือบรรทุกอุปกรณ์การแพทย์ไปส่งที่ประเทศสิงค์โปร์ ในเที่ยวเรือครั้งนั้นมีการลักลอบขนสมบัติผิดกฎหมายมูลค่านับไม่ถ้วนกลับมาด้วย

เชื่อกันว่ามีทองคำแท่งทั้งหมด 40 ตัน ทองคำขาว 12 ตัน และเพชรกว่า 150,000 กะรัต ที่น่าตกใจคือมีการตรวจพบซากฟอสซิลของมนุษย์ปักกิ่ง ที่เป็นหลักฐานสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราววิวัฒนาการของมนุษย์ในระยะแรกที่หายไป

อย่างไรก็ตาม เรือเอวะ มารุ ถูกซุ่มโจมตีโดยเรือดำน้ำสหรัฐ USS Queenfish ส่งผลให้ลูกเรือ 2,004 คนเสียชีวิต โดยมีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวในเหตุการณ์นั้น และในปี ค.ศ.1980 ทางการจีนได้ทุ่มเงินเพื่อกู้ซากเรือลำดังกล่าว แต่ไม่พบร่องรอยของเรือแม้แต่น้อย

 

 

ข้อมูลจาก : Dark5

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: