ชัดเจนแทบไม่เห็นโอกาสเป็นอื่นไปได้ กับวาระสุดท้ายขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่กำลังสิ้นสุดลงในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) เห็นชอบรายงานว่าด้วยเรื่องนี้ไปแล้ว ขณะนี้ เหลือแค่รอให้สภาลงมติเห็นชอบให้เป็นกฏหมายอย่างเป็นทางการเท่านั้น!
เป็นคำถามเสียงดังๆ สะเทือนไปทั่ววงการท้องถิ่นไทยว่า อบต. ทำอะไรผิด ถึงต้องถูกยุบ?
ว่ากันง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลเห็นว่า เวลานี้มี อบต. จำนวนมากเกินไปสถิติจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่าวันนี้มี อบต. ทั้งหมด 5,334 แห่ง ถึงแม้ตามหลักการแล้ว การมีองค์กรท้องถิ่นเยอะๆ จะเป็นเรื่องดีเพราะถือว่าช่วยกระจายอำนาจให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจด้วยตัวเองแต่ความจริงที่ปรากฏคือ อบต. จำนวนมาก กลับไม่มีประสิทธิภาพ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอทั้งจากปัญหาที่รัฐกระจายเงินมาให้เพียงน้อยนิด และการจับเก็บภาษีด้วยตัวเองยังทำได้ไม่มาก
ในขณะที่ อบต. จำนวนมากมีสภาพ "ไกลปืนเที่ยง" กลับมีบางแห่งที่ใช้งบประมาณเกินตัว จัดสำนักงานหรูหรา ล้อมรั้วอลังการ อาคารสูงใหญ่ถึงขนาดที่ดูดีกว่า อบจ. หรือกระทั่ง ศาลากลางบางจังหวัดเสียอีกจนชาวบ้านตั้งข้อสงสัยถึงแนวทางการใช้งบประมาณว่าโปร่งใสและคุ้มค่าแค่ไหน
เมื่อถึงคราวรัฐบาลกำหนดให้การปฏิรูปท้องถิ่นเป็นวาระแห่งชาติ ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี การยกเครื่อง อบต. ครั้งใหญ่จึงต้องเกิดขึ้น
แนวทางการยุบรวมคือ อบต. ใดมีประชากรรวมไม่เกิน 7,000 คน และมีรายได้ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อไป จะถูกบังคับให้ควบรวมกับองค์กรท้องถิ่นอื่นภายในกรอบเวลาที่กฏหมายกำหนดและให้กลายสภาพเป็น "เทศบาลตำบล" แทนโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า ต้องการให้ท้องถิ่นต่างๆ มารวมกันเพื่อให้องค์การมีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และแก้ปัญหางบประมาณขาดแคลน
เพราะฉะนั้น ในอนาคตท้องถิ่นไทยจะเหลือโครงสร้างการบริหารท้องถิ่นเพียง 2 รูปแบบ ได้แก่ เทศบาลตำบล และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เท่านั้น
ทั้งนี้ การยกเครื่องใหญ่ท้องถิ่นไทยด้วยแนวคิด "ควบรวม" ยังมีประเด็นต้องจับตาด้วยเช่นกันโดยเฉพาะกระแสคัดค้านจากคนในโครงสร้างเดิม และตอบโจทย์การกระจายอำนาจได้ถูกต้องหรือไม่
ข่าวจาก : Nation TV
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ