คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่…
อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายๆ บ้านหมุนโดยไม่รู้สาเหตุ
กระเพาะอาหารปั่นป่วน อยากอาเจียน พอลุกขึ้นยืนก็ทรงตัวไม่อยู่
หากคุณมีอาการเหล่านี้คงจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าคุณอาจเกิด ‘โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน’
พญ.จิรัฐา งามศิริเดช แพทย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงโรคดังกล่าวว่า
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) เป็นโรคที่พบได้บ่อย
เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในที่ควบคุมระบบการได้ยินและการทรงตัว
ทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน การได้ยินลดลง เสียงก้องในหู และแน่นหูได้
[ads]
อาการของโรค
ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มอาการ
1. เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน โดยปกติมักเป็นทันทีทันใด
มีอาการเป็นๆ หายๆ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแต่ละครั้งอาจจะมีอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง
และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
2. ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ
โดยอาจเป็นหูข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบเป็นหูข้างเดียวมากกว่า
3. เสียงดังในหู แน่นหู อาจทนเสียงดังไม่ได้
สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์
โดยปกติแล้วจะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด
ก็สามารถวินิจฉัยได้หากผู้ป่วยมาด้วยอาการที่เด่นชัดทั้ง 3 อาการดังกล่าว แต่หากอาการไม่ชัดเจนอาจต้องอาศัย
เครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่
1. การตรวจการได้ยิน
2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าในหูชั้นใน
3. การตรวจระบบการทรงตัวของหูชั้นในและการทดสอบแคโรลิก
4. การทดลองให้ยาเพื่อลดปริมาณน้ำในหูชั้นใน แล้วสังเกตดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
5. การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง
ในกรณีที่สงสัยว่าอาการเวียนศีรษะเกิดจากก้อนเนื้องอกบริเวณประสาทการได้ยิน
6. การตรวจโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง ในกรณีที่สงสัยว่ามีเนื้องอกบริเวณสมองและระบบประสาท
การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จะต้องควบคุมอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
ทำให้อาการทางหูและการได้ยินกลับมาปกติ โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยทางด้านการปฏิบัติตัว
และการรักษาด้วยยา ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยต้องงดอาหารเค็ม
เช่น ขนมซองที่มีเกลือปริมาณมาก เครื่องดื่มบำรุงกำลังบางชนิด งดเหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ
นอกพักผ่อนให้เพียงพอ ลดเครียด
แต่หากรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวและรักษาด้วยยาร่วมกันแล้วยังไม่ได้ผล
อาจจะต้องใช้วิธีทางเลือกอื่นๆ เช่น
1. Meniett device เป็นเครื่องมือที่ใส่เข้าไปในหู แล้วให้ผู้ป่วยปรับความดันเอง
โดยความดันจากเครื่องมือนี้จะส่งผลไปยังหูชั้นในทำให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น
2. การฉีดยาเข้าในหูชั้นกลาง ปัจจุบันยาที่นิยมมี 2 ชนิด คือ 2.1 Dexamethasone
เป็นยาที่ช่วยให้ความถี่ในการเวียนศีรษะลดลงและมีผลอาจช่วยให้การได้ยินดีขึ้น
ซึ่งสามารถฉีดบ่อยได้ทุก 1-3 เดือน 2.2 Gentamicin เป็นยาฉีดเพื่อควบคุมอาการเวียนศีรษะ
แต่อาจมีผลข้างเคียงเรื่องการได้ยินที่ลดลง
3. การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากและรักษาด้วยวิธีการใดก็ไม่ได้ผล
ซึ่งการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ มีหลายวิธี แต่ละวิธีมีความเสี่ยง ข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
ผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ หู คอ จมูกเรื่องรายละเอียดการรักษาก่อนตัดสินใจ
ทั้งนี้ อาการเวียนศีรษะโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมิใช่เรื่องที่น่ากลัว หากคุณหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว
สามารถมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาอาจต้องใช้ความอดทน
และความร่วมมือในจากผู้ป่วย
หากช่วยกันก็สามารถทำให้อาการกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติได้
ขอบคุณเนื้อหาจาก http://health.spokedark.tv/2014/07/23/menieres_disease
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ