หากเส้นทางชีวิตเปรียบเหมือนถนนสายหนึ่ง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เป็นธรรมดาที่การเดินหน้าสู่จุดมุ่งหมายต้องฟันฝ่าขวากหนาม อุปสรรค ผจญกับหลุมบ่อ เปรอะเปื้อนโคลนตม เช่นเดียวกับชีวิตของหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ชื่อ “วรวิทย์ เอี่ยมสำอางค์” หรือ “โจ” ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรค จนถึงเป้าหมายบนเก้าอี้ “ทนายแผ่นดิน”
“อัยการวรวิทย์” สอบติดอัยการผู้ช่วย รุ่นที่ 51 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อัยการผู้ช่วย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ ช่วยราชการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ปฏิบัติราชการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 5
“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษเส้นทางชีวิตของ “อัยการวรวิทย์” นักสู้ชีวิต ที่จัดว่าน่าสนใจและเป็นต้นแบบของความมานะ อดทน
“ผมเกิดในครอบครัวประกอบอาชีพขายสินค้าการเกษตรพวกผักผลไม้ ใน จ.เพชรบุรี มีพี่น้องรวม 4 คน ผมเป็นคนที่ 3 ช่วงชีวิตวัยเด็กพ่อไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือ เนื่องจากเป็นครอบครัวที่ประกอบอาชีพค้าขาย พ่ออยากให้ลูกประกอบอาชีพค้าขายเหมือนพ่อ เนื่องจากเป็นอาชีพอิสระ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร และเกรงว่าหากดันทุรังส่งลูกเรียนในชั้นสูงๆ จะประคองเรือไม่ถึงฝั่ง เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน พ่อมักพูดกับลูกๆ เสมอว่า เรียนจบมาก็ต้องไปเป็นลูกน้องคนอื่น ส่วนจะสอบเป็นข้าราชการก็อย่าหวังเลยว่าชาวบ้านอย่างเราๆ จะมีโอกาสสอบได้เป็นข้าราชการ”
ชีวิตในวัยเยาว์ “อัยการวรวิทย์” เล่าว่า เรียนจบชั้น ป.6 จากโรงเรียนบ้านท่ายาง ในชั้นนี้พ่อสนับสนุนให้เรียนเพราะน่าจะเป็นการศึกษาภาคบังคับให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียน แต่พอจะต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พ่อไม่อยากให้เรียนต่อ อยากให้มาช่วยทางบ้านค้าขาย แต่ก็ขัดใจพ่อไปเรียนต่อชั้นมัธยมตอนต้น เรียนได้แค่ ม.1 เท่านั้นเพราะทางบ้านเกิดปัญหาด้านการเงินจึงจำใจต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวค้าขาย หารายได้เพิ่มใช้หนี้สิน นอกจากการขายผักผลไม้ ยังต้องเผาข้าวหลามขายที่ตลาดนัดในย่าน จ.นนทบุรี หากว่างจะไปรับจ้าง เป็นคนยกของพวกสินค้าเกษตร
อัยการวรวิทย์ คนยืนแถวหน้าสุด
“มีอยู่วันหนึ่งขณะผมกำลังทำงานยกตะกร้าผักอยู่ ได้ยินเสียงเพื่อนสมัยมัธยมต้นขี่รถมอเตอร์ไซค์ หยอกเย้าเฮฮากัน ตอนนั้นดูมันช่างสนุกสนาน แต่ผมต้องมาทำงาน แบก หาม เมื่อคิดได้จึงตัดสินใจว่าจะต้องกลับไปเรียนให้ได้ จึงแอบสมัครเรียน กศน. พอจบมัธยมต้น ผมตัดสินใจขออนุญาตพ่อเรียนต่อในชั้น ม.4 ครั้งนั้นพ่อคงไม่อยากหักหาญน้ำใจมากนัก ยอมให้เรียนต่อสายสามัญ แต่ผมและน้องชายยังต้องมาช่วยพ่อและแม่ค้าขายของตามปกติ จนถึงชั้นอุดมศึกษาพ่อบอกว่าไม่มีเงินส่งให้เรียน ตอนนั้นผมคิดในใจเพียงว่าไม่เป็นไร ขอแค่มีโอกาสเรียนก่อน จึงมาสมัคร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเรียนจนจบเรียนจบปริญญาตรี ในปี 2551 และระหว่างทำเรื่องขอจบ พ่อยังทำเตาย่างไก่ เพื่อให้ผมไปขายไก่ย่างตามตลาดนัดแถวๆ จ.นนทบุรี ผมไม่ได้ขัดใจ เนื่องจากพ่อยอมให้โอกาสเรียนจนจบปริญญาตรี ขณะเริ่มขายไก่ย่างได้สักพักหนึ่ง เป็นช่วงเศรษฐกิจของโลกเกิดปัญหา ขายของขาดทุนเรื่อยๆ ผมจึงขอพ่อมาลงเรียนเนติบัณฑิต”
ระหว่างนั้นความเจ็บป่วยเริ่มมาเยือนเสาหลักของครอบครัว “อัยการวรวิทย์” เล่าว่า พ่อป่วยโรคเบาหวานลงขา ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงต้องคอยดูแลพ่ออย่างใกล้ชิด บางช่วงอาการดี ผมก็ต้องหางานทำ แต่ทำงานประจำไม่ได้เพราะพ่อยังป่วยอยู่ เลยตัดสินใจขี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้าง อยู่ย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา (ม.รามคำแหง 2) โดยขี่รถตั้งแต่ 05.30-08.00 น. และ 18.00-19.00 น.
“ตลอดเวลาที่พ่อป่วย ประมาณ 5 ปี ผมดูแลพ่อไปด้วย ขี่วินมอเตอร์ไซค์ไปด้วย และอ่านหนังสือเพื่อสอบเนติบัณฑิตไปด้วย จนจบเนติบัณฑิตสมัยที่ 65 ช่วงนั้น อาการพ่อทรุดหนักมาก สมองไม่รับรู้อะไร เหมือนเจ้าชายนิทรา ครอบครัวหมดความหวังว่าพ่อจะหาย ได้แต่รอเวลาว่าพ่อจะจากพวกเราไปวันไหน ทุกๆ เช้าผมตื่นนอนมาเห็นพ่อนอนนิ่งๆ จะรู้สึกใจหายทุกครั้ง ต้องเปิดผ้าห่มดูที่ท้องว่าพ่อยังคงหายใจอยู่หรือเปล่า ช่วงนั้นผมมีโอกาสสอบอัยการผู้ช่วยครั้งแรกเมื่อปลายปี 2557 รู้สึกว่าข้อสอบยากมาก จนสอบไม่ผ่าน แต่คิดในใจว่า ถ้ามีเวลาเตรียมตัวดีๆ น่าจะทำได้ จนถึงวันที่ 27 มกราคม 2558 พ่อเสียชีวิตลง ผมขอแม่และคนในครอบครัวให้เก็บศพพ่อเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งเผา รอผมสอบอัยการรอบต่อไป เพื่อจะได้ใส่ชุดปกติขาวในวันงานเผาศพพ่อให้ได้
“ช่วงที่พ่อเสียชีวิต จึงขายเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ มาเป็นทนายความ ในช่วงปี 2558 งานทนายความเยอะมาก ผมเป็นทั้งเสมียนทนายความ เป็นทั้งคนขับรถ และจัดทำเอกสารเอง จนไม่มีเวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบอัยการ จึงอ่านในห้องพิจารณาคดี ระหว่างรอผู้พิพากษาลงบัลลังก์บ้าง อ่านระหว่างนั่งรอคัดเอกสารบ้าง ตอนนั้นคิดว่าความหวังที่จะใส่ชุดปกติขาวในวันงานเผาศพพ่อหมดไปแล้ว จึงบอกกับทางครอบครัวว่า ให้เผาศพพ่อก่อนดีกว่า เพราะหากรอให้ผมสอบติดเป็นอัยการ ศพพ่อคงไม่ได้เผาสักที ครอบครัวจึงเผาศพพ่อหลังวันที่ผมสอบอัยการ แต่หลังจากที่งานเผาศพพ่อเสร็จไปแล้ว ประมาณ 1 เดือน ก็สอบติดอัยการผู้ช่วย”
“อัยการวรวิทย์” เล่าถึงความรู้สึกแรกเมื่อทราบว่าสอบติดอัยการผู้ช่วย ว่า “ผมดีใจมาก แต่ก็เสียใจที่ผมไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง หากไม่เผาศพพ่อก่อน คงมีโอกาสได้ใส่ชุดปกติขาว ในวันเผาศพพ่อตามที่ตั้งใจไว้
ครั้นถามถึงเหตุผลในการเลือกเดินสู่เส้นทางสายนักกฎหมาย “อัยการวรวิทย์” เผยว่า แรงบันดาลใจมาจากทางบ้านมีฐานะยากจน เมื่อตอนเด็กพ่อเคยเป็นคดีความขึ้นศาลคดีแพ่ง คดีนั้นพ่อผมเป็นโจทก์ฟ้องคดี กว่าจะชนะคดีทั้ง 3 ศาลใช้เวลานานหลายปีมาก ผมจำได้ว่าพ่อและญาติๆ ต้องไปศาลเป็นประจำ และทุกครั้งพ่อจะเคร่งเครียด ต้องนัดพบเพื่อพูดคุยกับคนแก่ ผมหงอก ที่ทุกคนให้ความเคารพเกรงใจ แต่ละครั้งต้องมีของฝาก ทั้งที่พ่อค้าแม่ค้าขายของมาเงินทองไม่ได้มากมาย แต่ต้องเก็บเงินไว้ให้คนแก่ท่านนี้เป็นประจำ บางครั้งต้องขอยืมคนอื่นมา ต่อมาจึงทราบว่า เขาคือทนายความของเรา
“ตอนนั้น ผมไม่รู้ว่าทนายความคืออะไร แต่ดูแล้วน่าเกรงขาม เพราะขนาดพ่อที่ผมคิดว่าเก่งแล้ว ยังให้ความเคารพ ผมเคยถามพ่อว่า ทนายความกลัวตำรวจไหม พ่อบอกว่าตำรวจส่วนมากกลัวทนายความ ผมเริ่มสับสนว่าทำไมตำรวจมีปืนต้องกลัวทนายความ เลยถามพ่ออีกว่า แล้วทนายความกลัวใคร พ่อบอกว่าน่าจะกลัวอัยการ คำถามในใจของผมคือ อัยการคือใคร พอเริ่มโตขึ้นจึงทราบว่าอัยการคืออะไร ทำหน้าที่อะไร ประกอบกับสามีของอาผมเป็นอัยการ ผมจึงเริ่มสังเกตและมักจะพูดคุยกับอาเขยทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบท่าน ผมเริ่มรู้จักพนักงานอัยการมากขึ้น จนเริ่มอยากเป็นอัยการ ผมจึงมุ่งมั่นที่จะเรียนสายกฎหมายเพื่อสอบบรรจุเพื่อเป็นอัยการตลอดมา”
“อัยการวรวิทย์” บอกทิ้งท้ายว่า เมื่อได้เป็นอัยการตามที่หวังแล้ว ตั้งปณิธานว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทนายของแผ่นดิน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ปราศจากอคติทั้งปวง และจะเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนตลอดชีวิต
แต่ละห้วงชีวิตของ “อัยการวรวิทย์” ที่เต็มเปี่ยมด้วยความกตัญญู ความเพียร มานะ อุตสาหะ จึงเป็นต้นแบบของนักสู้ตัวจริงเสียงจริง!!
ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ