ประธานชมรมผู้บริหารทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยเผย พยาบาล รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ยังนอนเป็นเจ้าหญิงนิทราหลังรถ Refer ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2553 จี้กระทรวงสาธารณสุขตั้งกองทุนดูแลผู้บาดเจ็บจากการทำงาน ออกระเบียบนับอายุราชการแบบทวีคูณเพื่อให้ได้สิทธิบำนาญ และเพิ่มค่าเสี่ยงภัยให้พยาบาลที่ออกไปกับรถ Refer ผู้ป่วย
น.ส.ปิยนุช ประทีปทัศน์ หัวหน้าพยาบาล รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และประธานชมรมผู้บริหารทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยสถานการณ์ของ น.ส.อารีย์ แก้ววารีย์ พยาบาล รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งทุพพลภาพจากกรณีรถพยาบาลประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วย (Refer) ในปี 2553 ว่า ปัจจุบัน น.ส.อารีย์ ยังนอนเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในห้องพิเศษของโรงพยาบาลโดยใช้สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการและใช้เงินสวัสดิการของโรงพยาบาลสำหรับค่าใช้จ่ายของใช้ส่วนตัว
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบัน น.ส.อารีย์ จะได้รับการดูแลอย่างดี แต่ในภาพรวมแล้วทางกระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการรองรับที่เป็นระบบมากกว่านี้
น.ส.ปิยนุช กล่าวว่า น.ส.อารีย์ ประสบอุบัติเหตุในวันที่ 17 พ.ค. 2553 ขณะเดินทางกลับจากการ Refer ผู้ป่วย พนักงานขับรถเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วน น.ส.อารีย์ บาดเจ็บสาหัส กระดูกสะโพกหักและสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก ในระยะแรกต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองหลายครั้ง และเมื่ออาการทางสมองดีขึ้น ก็ถูกส่งตัวไปรักษาสะโพกที่ รพ.เลิดสิน จากนั้นก็กลับมารักษาตามอาการที่ รพ.ชุมพรฯ จนถึงปัจจุบัน
“ตอนนี้ก็รักษาไปตามอาการ เราจัดเวรให้มีผู้ช่วยพยาบาลคอยดูแลวันละ 3 เวร พยายามทำกายภาพบำบัด พยายามให้ยืน คือถึงแม้น้องเขาไม่รู้สึกตัวแต่ก็ไม่ได้ปราศจากการรับรู้โดยสิ้นเชิง ยังจำพี่ๆ ได้ ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมเขาก็เหมือนจะร้องไห้ ก็แสดงว่ายังรับรู้ได้ แต่จะให้หายเหมือนเดิมคงไม่ได้ ได้แต่หวังแค่ให้เขานั่งได้ ทานอาหารทางปากเองได้” น.ส.ปิยะนุช กล่าว
น.ส.ปิยนุช กล่าวต่อไปว่า การประสบอุบัติเหตุของ น.ส.อารีย์ กระทบต่อฐานะของครอบครัวอย่างยิ่ง เนื่องจากบิดาเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่เกษียณแล้ว ไม่มีบำนาญ ส่วนมารดาก็เป็นแม่บ้าน ทั้งครอบครัวมี น.ส.อารีย์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลครอบครัว ทางโรงพยาบาลจึงให้การดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยใช้เงินสวัสดิการของโรงพยาบาลมาจ่ายค่าของใช้ส่วนตัว อาทิ แป้ง สบู่ กระดาษชำระ ฯลฯ รวมประมาณเดือนละ 7,000 บาท และค่าตอบแทนผู้ช่วยพยาบาล ตลอดจนรับพี่สาวของผู้ป่วยเข้ามาทำงานในโรงพยาบาล เพื่อให้มีรายได้ดูแลครอบครัว
“ค่าใช้จ่ายในการดูแล พี่ขอผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลย ผู้อำนวยการเปลี่ยนมาแล้ว 3 คน ทุกครั้งพี่ก็เข้าไปคุย พาไปเยี่ยมน้อง แล้วก็ขออนุมัติให้ใช้เงินสวัสดิการสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะน้องประสบอุบัติเหตุจากการทำหน้าที่ จึงเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่ต้องดูแล และก็บอกพ่อเขาว่าไม่ต้องกังวล เดี๋ยวจะดูแลให้เอง ถ้าพี่ยังอยู่ก็จะช่วยดูแลให้ถึงที่สุด แต่ก็กังวลว่าถ้าพี่ตายไปแล้วน้องจะเป็นยังไง มันไม่มีระบบอะไรมารองรับชัดเจน” น.ส.ปิยนุช กล่าว
น.ส.ปิยนุช กล่าวว่า กรณีเช่นนี้เป็นการดูแลแบบ Case by case ซึ่งหากเกิดกรณีลักษณะนี้กับพยาบาลคนอื่นๆ แล้วโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพดูแล พยาบาลคนนั้นก็จะลำบาก ดังนั้นควรมีมาตรการในเชิงระบบเพื่อดูแลปัญหาเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาวิชาชีพพยาบาลได้เสนอข้อเรียกร้องไปหลายอย่าง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากกระทรวงสาธารณสุข ยื่นหนังสือไปก็เงียบ สุดท้ายมีมาตรการออกมาว่าห้ามขับรถเร็วและให้ติดกล้องวงจรปิด ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่หากจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอย่างไรก็ต้องเกิด ต่อให้ขับช้าก็มีรถคันอื่นมาชนได้อยู่ดี
ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าควรทำใน 3 ประเด็นคือ 1.จัดให้มีกองทุนสำหรับดูแลพยาบาลที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน ไม่เฉพาะอุบัติเหตุจากการ Refer ผู้ป่วย แต่รวมถึงการบาดเจ็บทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ด้วย
2.มีระบบการปูนบำเหน็จ คล้ายๆ กับทหารที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาจเป็นการเพิ่มอายุราชการแบบทบทวีคูณ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับเงินบำนาญได้ และ 3.เพิ่มค่าตอบแทนเมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ Refer ผู้ป่วย รวมทั้งมีค่าเสี่ยงภัยให้ด้วย
“เวลาทหารบาดเจ็บก็มีกองทุนทหารผ่านศึกช่วยดูแล มีระบบปูนบำเหน็จหลายชั้นยศ แต่น้องไม่ได้อะไรเลย ตอนประสบอุบัติเหตุน้องอายุราชการ 6 ปีและเขาจะให้สิ้นสุดการเป็นข้าราชการเพราะทำงานต่อไม่ได้แล้ว แต่เราไม่ยอม เราต่อสู้มากเลยเพื่อให้น้องคงไว้ซึ่งสิทธิ ตอนนี้ก็ขอต่ออายุออกไปเรื่อยๆ อย่างน้อยน่าจะมีการเพิ่มอายุราชการเพื่อให้พ่อแม่เขาได้เงินบำนาญ ลองคิดดูว่าพ่อแม่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบส่งลูกเรียนพยาบาล หวังว่าแก่ตัวมาจะได้พึ่งพิง แต่พอเรียนจบแล้วลูกกลับมาเป็นแบบนี้และต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนาน แล้วพ่อแม่จะอยู่อย่างไร เงินบำนาญมันไม่เยอะหรอก เดือนละ 3,000-4,000 บาท ก็น่าจะให้พ่อแม่เขาได้มีเงินใช้ จะแก้กฎหมายหรือออกระเบียบอะไรมาช่วยตรงนี้ได้ไหม รวมทั้งเพิ่มค่าตอบแทนและค่าเสี่ยงภัย เพราะทุกครั้งที่ล้อหมุนมันคือความเสี่ยงของพยาบาลทั้งนั้น ค่าตอบแทนพยาบาลที่ไป refer ก็น้อย ไม่มีระเบียบการจ่ายค่าตอบแทน บางที่จ่ายเป็น OT บางที่เหมาจ่าย ดังนั้นควรจะออกระเบียบให้ชัดเจนว่าระยะทางเท่าไหร่ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่และค่าเสี่ยงภัยก็ควรมากกว่าเงิน OT ด้วย”
ข่าวจาก : hfocus.org
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ