ฝ่ามือของคุณจะโอบอุ้มตังค์เหรียญได้มากน้อยแค่ไหน? เพราะอีกไม่ใกล้ไม่ไกล ค่าโดยสารสูงสุดของ BTS จะขยับขึ้นไปถึง 57 บาท (จากสยามไปสำโรง)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน facebook/Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D. ไขข้อข้องใจในประเด็น เพราะอะไร? ทำให้เรายังต้องกำตังค์เหรียญไปแลกซื้อบัตรโดยสาร BTS
โดยข้อมูลที่อาจารย์ประมวลเสนอมานั้น ให้มุมมองความเห็นที่หลากหลาย เงื่อนไขต่างๆ ที่ BTS ต้องแบกรับ ข้อบังคับกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงมุมมองทางธุรกิจ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้เรายังต้องกำตังค์เหรียญไปแลกซื้อบัตรโดยสาร BTS อยู่ดี
2-3 วันก่อน ใครสักคนถามผมว่าอะไรคือเหตุผลที่ BTS ยังคงใช้วิธีการแลกเหรียญเพื่อเอาไปหยอดตู้จำหน่ายตั๋วโดยสาร แทนที่จะทำให้ใช้ธนบัตร (หรือเหรียญ) ซื้อได้โดยตรงแบบประเทศอื่นๆ
มีข้อมูลควรทราบเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องนี้ ดังนี้ (บางส่วนมีข้อมูลประกอบ บางส่วนเป็นความเข้าใจของผมเอง ซึ่งอาจไม่ใช้สิ่งที่ BTS คิดนะครับ)
1. BTS ทำสัญญากับ กทม. ในลักษณะสัญญาสัมปทาน 30 ปี เปิดดำเนินการในปี 2542 แปลว่าขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 18 ปี ยังคงเหลือสัญญาอีก 12 ปี
เป็นสัญญาแบบ BOT คือ Build-Operate-Transfer หมายถึง เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน BTS จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกอย่างให้เป็นสมบัติของ กทม. ซึ่งผมเข้าใจว่าหมายรวมทั้งระบบจำหน่ายตั๋วด้วย
2. เมื่อราวๆ ปี พ.ศ.2540+ ก่อนเปิดให้บริการ BTS (2542) ผมจำได้ว่ามีการเชิญผู้แทนบริษัท (จำไม่ได้ว่ามาจาก BTS หรือ Siemens) มาอธิบายวิธีการจำหน่ายตั๋วที่วิศวะฯ จุฬาฯ มีประเด็นหนึ่งที่พูดคุยกันในวันนั้นคือ การพิมพ์ธนบัตรของไทยในขณะนั้นยังไม่ได้มาตรฐาน (มาตรฐานอะไรสักอย่าง ผมก็จำไม่ได้นะครับ) ทำให้ระบบการตรวจสอบธนบัตรทำได้ยาก และนำมาสู่การตัดสินใจใช้การแลกเหรียญไปซื้อตั๋วโดยสาร
ช่วงเวลานั้น จำได้ว่าผมยังแอบแปลกใจในประเด็นนี้ เพราะเพิ่งกลับมาจากไปทำวิจัยที่ญี่ปุ่น และพบว่าแม้แต่ช่วงทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นมีการใช้เหรียญ ใช้ธนบัตร กับเครื่องอัตโนมัติทันสมัยกว่าไทยมาก อย่าว่าแต่ใช้ธนบัตรกับเครื่อง Vending Machine แม้แต่ตู้ ATM ของธนาคารก็สามารถใส่เหรียญทุกขนาดเป็นกำๆ หย่อนลงไป ตู้จะนับเหรียญให้เองโดยอัตโนมัติ สะดวกมาก
3. ปัจจุบัน BTS มีตั๋วใช้งานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
ก. บัตรแถบแม่เหล็ก ได้แก่ ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียว (SJT, Single Journey Trip) และบัตรโดยสาร ประเภท 1 วัน (One Day)
ข. สมาร์ทพาส (Sky SmartPass) ได้แก่ บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน และบัตรโดยสารประเภท 30 วัน (ที่เราเรียกว่าบัตร Rabbit ซึ่งแบ่งเป็น Adult/Students/Senior)
มีสัดส่วนคนใช้บัตรประเภทต่างๆ ตามนี้ (ข้อมูลจากการไปฟังบรรยายที่ BTS เมื่อ 2-3 เดือนก่อนนะครับ)
– One Day 1.09%
– Senior 2.23%
– Students 6.12%
– Adult 26.71%
– Sky SmartPass 27.21%
– SJT 36.63%
สรุปหยาบๆ คือ ผู้โดยสาร 37% ใช้บริการแลกเหรียญไปหยอดตู้ซื้อตั๋ว ในขณะที่ 63% ใช้บัตรโดยสารประเภทอื่นๆ
แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี หรือทิศทางการเติบโต ในมุมมองธุรกิจ จึงเน้นไปที่การขยาย 63% นี้ให้มากขึ้น และลด 37% ลง
และควรสังเกตว่าระบบ Rabbit เป็นระบบทางการเงิน ซึ่ง BTS พัฒนาขึ้น เมื่อครบสัมปทาน ผมเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องโอนส่วนนี้ให้กับ กทม.
การลงทุนกับระบบจำหน่ายตั๋วแบบใช้ธนบัตรในเวลานี้ ซึ่งมีเวลาเหลืออีก 12 ปี ก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะในที่สุดก็ต้องโอนคืนให้กับ กทม.
และควรสังเกตว่า ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศ “ซื้อเทคโนโลยี” ไม่ได้เน้นการ “พัฒนาเทคโนโลยี”
ในมิติทางธุรกิจ การลงทุนก็คือต้นทุน ซึ่งผมคิดว่าเราก็ต้องแฟร์กับ BTS ด้วยเช่นกัน
4. กรณีของบัตร Rabbit เป็นบัตรที่ BTS ต้องพัฒนาหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อให้สามารถใช้บัตรร่วมกับร้านค้าในเครือข่าย โดยมีการใช้แผนส่งเสริมการขายเพื่อดึงให้มีผู้ใช้มากขึ้น
ควรสังเกตว่า Rabbit เป็นบัตรเติมเงิน และการนำเงินไปเติมในบัตร ก็หมายถึงการได้เงินสดมาใส่ในบัญชีก่อนการขายจะเกิดขึ้น
5. บัตรแมงมุมที่กำลังเกิดขึ้น และพูดกันว่าเป็นตั๋วร่วม (ซึ่งจริงๆ ผมไม่คิดว่ามันเป็นตั๋วร่วมนะครับ) จะเป็นระบบทางการเงินระบบใหม่ ที่เกิดช้าก็น่าจะเป็นเพราะเรื่องการบริหารผลประโยชน์นี่แหละนะครับ และหากมีนโยบายส่งเสริมการขายคล้ายๆ บัตร Rabbit คือ นำไปใช้กับร้านค้าต่างๆ ได้ จริงๆ ก็จะกลายเป็นคู่แข่งขันของบัตร Rabbit เองด้วยซ้ำ
การพิจารณาเรื่องเทคโนโลยีจึงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องพิจารณาเรื่องธุรกิจควบคู่ไปด้วยกันครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊กเพจ Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D., เว็บไซต์ thatsright.co
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ