กรณีกระทรวงศึกษาธิการมีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งจะใช้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วยทั่วไป ครั้งที่ 1/2560 กำหนดให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอนที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันได้จากเดิมที่ต้องมีใบอนุญาตฯ เพราะอยากได้คนเก่งมาเป็นครูนั้น
22 มีนาคม นางสุจี บุญลิ่มเต็ง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดประถมศึกษา 3 จว.ชายแดนใต้ กล่าวว่า ก่อนนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดสอบแข่งขันครูไม่จำเป็นต้องใช้ใบวิชาชีพครูก็สามารถเป็นครูได้ พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย ครูที่ดีมีคุณภาพก็จะต้องเป็นครูที่มีใบประกอบวิชาชีพ จนนำมาสู่การหาใบวิชาชีพเพื่อมาแสดงให้เห็นว่าเราทุกคนมีความพร้อมที่จะเป็นครูที่ดี แม้กระทั่งคนที่จบมาทางด้านครูแต่ไม่มีใบวิชาชีพก็จะต้องไปหาที่เรียนใช้เวลาอบรม หรือเรียนตามหลักสูตรเป็นปีกว่าจะได้ใบนี้มา 1 ใบ แล้วก็สอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการครู แต่พอมาวันนี้กลับเปลี่ยนแนวคิด เพราะอยากได้ครูเก่ง ถ้าอย่างนั้นก็สอบแข่งขันครูผู้ช่วยที่เก่งเฉพาะทางไป แยกกับครูที่เรียนมา 5 ปี 7 ปี หรือครูที่มีใบวิชาชีพ ไปตัดโอกาสเด็กที่ตั้งใจเป็นครู กว่าจะสอบเข้าเรียนได้ก็ไม่ต่างกับเรียนแพทย์ เนื่องจากเขาเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญด้านการเป็นครู
ด้าน น.ส.กัลยาณี (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เปิดเผยว่า อ่านข่าวแล้วรู้สึกรับไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการคิดอย่างไร ควรให้โอกาสครูที่เรียนจบ 5 ปี แล้วครูที่ไปเรียนต่อเพื่อให้ได้ใบวิชาชีพครูจะดีกว่า ส่วนผู้จบ ป.ตรี ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือวิชาที่หายาก ก็ต้องใช้วิธีการจ้างสอน จนกว่าจะสอบใบวิชาชีพได้ ถึงจะสอบบรรจุ คนเหล่านี้เป็นคนเก่งอยู่แล้ว คงสอบได้ไม่ต้องกังวล ไม่อย่างนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรยกเลิกระบบการสอบใบวิชาชีพครูจะได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาได้มีโอกาสสอบเข้ารับราชการครู ไม่ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 1-2 ปี พวกเราเรียน 3 ปี ฝึกสอนอีก 2 ปี ใช้เวลานานพอๆ กับวิชาชีพสายวิทย์ สอนเด็กระดับประถม มัธยม ให้เข้าใจ ไม่ต่างกับการสร้างบ้านที่จะต้องวางรากฐานให้มีความแข็งแรงเช่นกัน
ข่าวจาก หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2560 (กรอบบ่าย)
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ