“ค่าปรับจราจร” เสียที่ศาลกับเสียที่โรงพักต่างกันอย่างไร? อ่านไว้เพื่อไม่ให้เสียรู้!!





 

เมื่อโดนใบสั่งให้เสียค่าปรับจราจร สิ่งที่หลายคนทำกันเป็นเรื่องธรรมดาก็คือการเข้าไปจ่ายค่าปรับที่โรงพักแต่โดยดี แต่ก็มีบางคนที่แอบรู้มาบ้างว่าจริงๆ แล้วไปเสียที่ศาลก็ได้ แล้วทีนี้เสียค่าปรับที่โรงพักกับเสียที่ศาลต่างกันอย่างไร เพจกฎหมายที่ตำรวจจราจรควรรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ มีคำตอบสำหรับประเด็นนี้

มีทนายความบางท่านแนะนำให้ผู้ที่ได้รับใบสั่ง ไม่ต้องไปชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจ โดยให้ไปชำระค่าปรับที่ศาลแทน เมื่อไปถึงศาล ถ้าผิดก็รับสารภาพ ศาลก็ปรับ ครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ ไม่เสียค่าปรับล่าช้า ไม่ถูกอายัดทะเบียน เพราะถือว่าชำระค่าปรับตามคำพิพากษาแล้ว และที่สำคัญเงินค่าปรับในศาล ตำรวจจะไม่ได้รางวัลนำจับ และตำรวจก็มีงานมากขึ้นจนล้นมือ นั้น 

เรามาดูกันครับว่าการเสียค่าปรับใบสั่งที่โรงพัก กับ เสียค่าปรับที่ศาลมีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรครับ 

1. การเสียค่าปรับที่ศาลเป็นการต้องโทษทางคดีอาญา มีประวัติคดีอาญาติดตัว แต่การปรับชั้นพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจไม่เป็นการต้องโทษคดีอาญา แต่เป็นการเปรียบเทียบทำให้คดีอาญาเลิกกัน จึงไม่มีประวัติว่าถูกต้องโทษทางอาญา 

คำอธิบาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 28 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับ(โทษทางอาญา) ผู้นั้นจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล” ซึ่งหมายถึง การปรับจะเป็นการต้องโทษทางอาญาเฉพาะการปรับตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้นไม่รวมถึงการเปรียบเทียบคดีอาญาของพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ เพราะการชำระค่าปรับชั้นพนักงานสอบสวน เป็นการทำให้คดีอาญาเลิกกันในชั้นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 37

2. การปรับชั้นศาล จะต้องถูกพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อส่งข้อมูลไปเก็บที่ทะเบียนประวัติอาชญากร แต่การเปรียบเทียบปรับชั้นพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจไม่ต้องถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ จึงไม่มีประวัติไปเก็บไว้ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรแต่อย่างใด (ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.2554 ข้อ 1.1.1 )

จะเห็นได้ว่าการปรับใบสั่งที่สถานีตำรวจ กับ ปรับในชั้นศาลจะมีความแตกต่างกัน และส่งผลแตกต่างกัน อาทิเช่น เวลาเราไปสมัครงานที่ต่างๆ มักมีใบประวัติให้กรอกว่า เคยต้องโทษคดีอาญาหรือ ไม่ ถ้าเราไปปรับชั้นศาลก็ต้องกรอกว่าเคยต้องโทษคดีอาญา แต่ถ้าปรับชั้นพนักงานสอบสวนก็กรอกว่าไม่เคยต้องโทษคดีอาญา หรือ การไปสมัครงานบางที่มักส่งข้อมูลผู้สมัครงานไปตรวจสอบที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ก็จะพบข้อมูลว่าเราเคยทำผิดกฎจราจร เป็นต้น 

และการชำระค่าปรับที่ศาลเราต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาโรงพักเพื่อมาพบพนักงานสอบสวน และต้องไปศาลอีก รวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้วการปรับที่ศาลอาจเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าปรับที่ต้องชำระที่สถานีตำรวจเสียอีก และยังส่งผลให้มีประวัติติดตัวด้วย เมื่อทราบถึงผลที่จะเกิดขึ้นของการเสียค่าปรับทั้ง 2 ทางแล้ว เมื่อเราทำผิดกฎหมายจราจรและได้รับใบสั่ง ก็ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจกันนะครับ ว่าจะไปปรับที่ศาลตามคำแนะนำของทนายความบางท่าน หรือชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจดี 

*****แต่ถ้าเราไม่ผิดเลยแต่ตำรวจออกใบสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราก็ควรปฏิเสธเพื่อสู้คดีในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงกันดีกว่านะครับ

ปล.การออกใบสั่งจราจรเป็นการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นวิธีที่ลดอุบัติเหตุวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกใช้ จากสถานการณ์ปัจจุบันการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศไทย อยู่อันดับ 2 ของโลก เพราะคนไทยยังเข้าใจว่าการออกใบสั่งเป็นการกลั่นแกล้งประชาชนหรือหากินจากค่าปรับ แต่เหตุผลที่แท้จริงของการออกใบสั่งเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ส่งผลให้ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางท้องถน

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจกฎหมายที่ตำรวจจราจรควรรู้ในการปฏิบัติหน้าที่

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: