อธิบดีกรมปศุสัตว์เอาจริง ปีนี้ไทยต้องปลอดสารเร่งเนื้อแดงในสุกรและโคขุน หลังจับกุมดำเนินคดีมากกว่า 600 คดี ชี้ล่าสุดมีการใช้ในสุกรเหลือเพียง 1.06% แต่การใช้ในโคขุนยังสูงถึง 30%
นสพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารว่า เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคและเป็นการสนับสนุนการส่งออก ในส่วนของสารเร่งเนื้อแดงที่มีการใช้ในการเลี้ยงสุกรและโคขุน กรมปศุสัตว์ได้ปราบปรามดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง
โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ซึ่งมีการดำเนินการตรวจสอบการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มระหว่างการเคลื่อนย้ายสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และร้านขายอาหารสัตว์ หากพบมีการกระทำผิดจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ได้มีการรับรองฟาร์มสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดงอีกด้วย
โดยผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2546 จากที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรมากกว่า 80% ปัจจุบันตรวจพบลดลงเหลือ 1.06% และตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการจับกุมดำเนินคดีมากกว่า 600 คดี แต่ในปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559-มี.ค. 2560) มีการจับกุมดำเนินคดีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรเพียง 6 รายเท่านั้น และมีฟาร์มที่ได้รับการรับรองเป็นฟาร์มสุกรปลอดสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 5,733 ฟาร์ม คิดเป็นมากกว่า 60% ของจำนวนฟาร์มสุกรขุนทั่วประเทศ
ส่วนการใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคขุนเพิ่งตรวจพบการใช้เมื่อ 2-3 ปีก่อน และมีแนวโน้มที่จะใช้แพร่หลายมากขึ้น กรมจึงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคขุน โดยการสุ่มตรวจปัสสาวะโคขุนบนยานพาหนะที่เคลื่อนย้ายด้วยชุดทดสอบภาคสนาม หากพบผลบวกจะอายัดโคขุนทั้งหมด พร้อมส่งตัวอย่างปัสสาวะดังกล่าวไปตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ หากผลยืนยันพบสารเร่งเนื้อแดงให้ตรวจสอบย้อนกลับไปยังฟาร์มหรือแหล่งที่มาของโคขุน เพื่อดำเนินคดีกับผู้ใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารเลี้ยงโคขุนดังกล่าว โดยเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ได้มีการประชาสัมพันธ์และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนว่าจะเลิกใช้สารเร่งเนื้อแดงตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ซึ่งก่อนกำหนดมาตรการดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ได้มีการสำรวจฟาร์มโคขุนในบางพื้นที่พบว่ามีการใช้สารเร่งเนื้อแดง 100% จากการเข้าตรวจสอบ 13 ฟาร์มใช้สารเร่งเนื้อแดงทั้งหมด และเมื่อมีการตรวจใหม่ในเดือนมีนาคม 2560 ในพื้นที่เดิมพบว่ามีการใช้ลดลงเหลือ 29.4% จากการเข้าตรวจสอบ 34 ฟาร์ม พบการใช้สารเร่งเนื้อแดง 10 ฟาร์ม ประกอบกับเมื่อตรวจโคขุนที่เคลื่อนย้ายจำนวน 17 ราย พบสารเร่งเนื้อแดงในปัสสาวะเพียง 1 รายเท่านั้น เท่ากับ 5.8%
การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์ลดลงนั้น เกิดจากการทำความเข้าใจแก่ผู้เลี้ยงถึงโทษของการใช้สารดังกล่าว ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง โดยปีงบประมาณ 2560 ได้มีการจับกุมดำเนินคดีต่อโรงงานผลิตอาหารโคขุน 12 ราย มี 4 รายถูกริบเครื่องผสมอาหารสัตว์มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจับกุมผู้ใช้สารเร่งเนื้อแดงเลี้ยงโคขุนอีก 16 ราย และมีการยึดเคมีภัณฑ์สารเร่งเนื้อแดง 225 กก. และอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก มูลค่าของกลางรวมทั้งสิ้นมากกว่า 5 ล้านบาท นอกจากนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกอื่นเมื่อเลิกใช้สารเร่งเนื้อแดง กรมได้พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่มีคุณสมบัติเกือบเทียบเท่าสารเร่งเนื้อแดงได้แล้ว และสายพันธุ์สัตว์เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดี ให้ผลผลิตด้านคุณภาพเนื้อที่ดีอีกด้วย และกรมจะรับรองฟาร์มสุกรและฟาร์มโคขุนปลอดสารเร่งเนื้อแดงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คาดว่าสิ้นปีนี้ไทยจะปลอดสารเร่งเนื้อแดงในวงการปศุสัตว์
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ