“พยาบาล”อาชีพที่ทำงานหนักมาก-ความก้าวหน้าต่ำ!!! คาด4ปีข้างหน้าไทยจะขาดแคลนพยาบาลสูงถึง”5หมื่นคน”





 

กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์อีกครั้ง หลังมีการเผยแพร่ภาพพยาบาลที่ต้องปฏิบัติงานทั้งที่ไม่สบาย ถึงขั้นต้องใส่สายน้ำเกลือระหว่างนั่งทำงาน

 

 

ภาพดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ทำให้พยาบาลส่วนใหญ่ที่แม้จะมีอาการเจ็บไข้ไม่สบาย แต่หากอาการไม่รุนแรงถึงขั้นทำงานไม่ไหวจริงๆ ก็จะไม่สามารถลาป่วยได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานเป็นทอดๆ เนื่องจากพยาบาลทุกคนต่างต้องเข้าเวร ตามตารางงานที่แน่นเอี๊ยดจนแทบไม่มีวันหยุด

ปัญหาพยาบาลขาดแคลนและความไม่ก้าวหน้าในวิชาชีพ ถือเป็นเรื่องที่มีการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้อนบุคลากรเข้าสู่ระบบได้เพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งเพิ่มโอกาสความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ เพื่อผลักดันในผู้ปฏิบัติงานมีกำลังใจในการทำงาน และป้องกันพยาบาลวิชาชีพไหลออกนอกระบบ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข  132,362 คน แบ่งเป็น ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 40,326 คน ทั้งที่มีความต้องการ 54,474 คน ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน 46,181 คน ทั้งที่มีความต้องการ 56,627 คน รวมแล้วในระบบขาดแคลนพยาบาลถึง 24,594 คน ไม่นับรวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ที่มีความต้องการพยาบาลเช่นกัน

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาพยาบาล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ความต้องการพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกอบกับการเพิ่มของประชากรสูงอายุและมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งวางมาตราการอย่างจริงจัง ในอนาคตจะเป็นปัญหาวิกฤติที่รุนแรง โดยสภาการพยาบาลไทย คาดว่าในปี 2563 จะมีการขาดแคลนพยาบาล สูงถึง 50,000 คน

ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมทั่วประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาด้านพยาบาล ทั้งสิ้น 85 แห่ง เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ 52 แห่ง และสถาบันศึกษาเอกชน 23 แห่ง  สามารถผลิตพยาบาลรวมได้ปีละประมาณ 10,000 คน ทว่าในแต่ละปีมีอัตราสูญเสียพยาบาลออกจากวิชาชีพถึง 5,800 คน ทั้งจากการเกษียณอายุราชการปกติ การเกษียนก่อนกำหนด และการเปลี่ยนแปลงอาชีพ

นอกจากภาระงานของพยาบาลที่หนัก จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแล้ว ปัญหาความไม่ก้าวหน้าทางวิชาชีพ ก็ถือเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้พยาบาลส่วนใหญ่ เลือกที่จะเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความไม่พอเพียงในระบบให้รุนแรงมากขึ้น

ดร.กฤษดา เคยให้สัมภาษณ์ สำนักข่าว HFocus เกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพไว้อย่างชัดเจน ระบุว่า “เรื่องความก้าวหน้าในอาชีพของกลุ่มบุคลากรด้านสุขภาพ ถือว่าเป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีความเฉพาะทาง ดังนั้นความก้าวหน้าก็ต้องสะท้อนความรู้ความสามารถของเขา แต่ปัจจุบันจะติกกรอบธรรมเนียมต่างๆ คือถ้าเราจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ต้องไปยุบตำแหน่งเล็กๆ ลง เพราะถ้าตำแหน่งสูงขึ้นใช้เงินมากขึ้น พยาบาลจะขึ้นซี 8,9 ได้ก็ต้องไม่มีพยาบาลซี 3 เพื่อไม่ให้เกินกรอบวงเงิน ทำให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ ไม่ได้ คำถามคือแล้วทำไมบุคลกรของเราต้องมารับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย ในเมื่อหน่วยงานก็ต้องการกำลังคนขนาดนี้”

อุปนายกสภาการพยาบาล ย้ำว่า “คนไข้เยอะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของพยาบาล เพราะพยาบาลทำงาน 3 กะ ทำให้ต้องมีเงินสำหรับจ่ายค่าตอบแทนมากกว่าวิชาชีพอื่น 3 เท่า แต่จะมาเอาประเด็นว่าคนเยอะแล้วก้าวหน้าน้อยอย่างนี้ไม่ได้ ในงานบริการทั้งหลายใช้กำลังพยาบาลเป็นหลัก ดังนั้นจึงมองว่าข้าราชการทั่วไป ถ้าคนทำงานเริ่มที่ปริญญาตรี อย่างน้อยควรต้องเกษียณด้วยตำแหน่งชำนาญการพิเศษ เพราะทำงานกันมานาน 40 ปี”

ข่าวจาก : pptv

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: