เยอะไปไหม!! เปิดลิสต์รายการทีวีแข่งร้องเพลงพบมากถึง31รายการ!! กูรูวงการเพลง-วงการสื่อชี้รายการควรสร้างสรรค์กว่านี้เพื่ออยู่รอด





 

ตอนนี้ไม่ว่าจะกดรีโมตเปิดทีวีไปช่องไหนก็มีแต่รายการแข่งขันประกวดร้องเพลงเกลื่อนจอ และดูจะผุดขึ้นมาใหม่มากขึ้นๆ เคยนึกสงสัยกันบ้างไหมว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตหันมาทำรายการเหมือนๆ กันมากมายหลายช่องเช่นนี้

รายการประกวดร้องเพลงของไทยมีเยอะแค่ไหน ทีมข่าวเฉพาะกิจออนไลน์ไล่เรียงจากผังรายการของแต่ละช่อง ดังนี้

ช่อง 3 HD
– ดันดารา (อาทิตย์ เวลา 17.00 น.) 
– บังลังก์เสียงทอง The Golden Singer Thailand ออกอากาศเดือน พ.ค.
– MASTERKEY เวทีแจ้งเกิด (จะออกอากาศเดือน พ.ค.)
– KPN Award ครั้งที่ 25 (จบซีซั่นเมื่อกลางปีที่แล้ว)
– The Voice Kids Thailand (จบซีซั่น 4 กลางปีที่แล้วและชมย้อนหลังทางช่อง True4U)
– The Voice Thailand Season 5 (จบซีซั่นเมื่อ 5 ก.พ. 60)
– The Winner is Thailand ซีซั่นแรกออกอากาศปี 57 ซีซั่นสองปี 58 ผลิตโดยทรูมิวสิก ซื้อลิขสิทธิ์มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์

ช่อง 7 HD
– The Cover เหมือนขั้นเทพ (จันทร์-พุธ เวลา 13.00 น.) 
– จันทร์พันดาว ร้องสู้ฝัน (จันทร์ เวลา 23.11 น.)
– กิ๊กดู๋ สงครามเพลง…เงินล้าน (อังคาร เวลา 22.40 น.)

ช่อง MCOT HD 
– งานวัดเฟสติวัล ร้องเต็มร้อย (จบซีซั่น 5 เมื่อ 18 ก.พ. รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ)

ช่อง ไทยรัฐทีวี HD
– ร้องได้ให้ล้าน ลูกทุ่งสู้ชีวิต (เสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.20 น.)

ช่อง Gmm25
– Stage Fighter ไมค์หมู่สู้ฟัด (จันทร์-ศุกร์ เวลา 21.45 น.)

ช่อง ONE HD
– ศึกวันดวลเพลงเงินล้าน (จันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00 น.)
– ศึกวันดวลเพลงเด็ก (เสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00 น.)
– ศึกวันดวลเพลง เสาร์ 5 (เสาร์ เวลา 18.20 น.) 
– เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว (จบซีซั่น 12 เมื่อ พ.ค. 59)

ช่อง 8
– เสียงสวรรค์คลาสสิค (จันทร์-ศุกร์ เวลา 13.45 น.) 
– เสียงสวรรค์พิชิตล้าน (อาทิตย์ เวลา 15.00 น.) 
– เสียงสวรรค์ฟันน้ำนม (อาทิตย์ เวลา 22.00 น.)

ช่องทรูโฟร์ยู
– Academy Fantasia (จบซีซั่น 12 เมื่อ ก.ย. 58)

ช่องเวิร์คพอยท์ 
– ไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร (เสาร์ เวลา 14.50 น.)
– ไมค์ทองคำเด็ก (เสาร์-อาทิตย์ เวลา 20:00 น.)
– ไมค์หมดหนี้ (จันทร์-พฤหัสฯ เวลา 18.20 น.)
– ไมค์ทองคำ 6 (เสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.20 น.)
– ไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชร (เสาร์ เวลา 14.50 น.)
– ไมค์หมดหนี้ ตั้งตัว (ศุกร์ เวลา 18.05 น.)
– บาวยังบลัด สายเลือดใหม่ คนพันธุ์บาว Season 3 (อาทิตย์ 17.00 น.)
– I Can See Your Voice (พุธ เวลา 20.00 น.)
– The Mask Singer หน้ากากนักร้อง (พฤหัสบดี เวลา 20.00 น.)
– ชิงช้าสวรรค์โอทอป (จบซีซั่นปีที่แล้ว)

… มีเยอะไปไหม……กับรายการประกวดร้องเพลงที่แทบจะแทรกอยู่เกือบทุกช่วงเวลาของรายการทีวี "เยอะ" จนเลือกดูไม่ถูก บางรายการก็ไม่รู้จัก ไม่เคยดูด้วยซ้ำ แต่พอดูมากๆ หลายๆ ช่องก็รู้สึกเอียนจนต้องปิดทีวี หรือกดรีโมตเปลี่ยนช่องไปดูรายการประเภทอื่น แต่ในมุมมองของผู้ผลิตคงไม่รู้สึกเบื่อหรือเอียน เพราะตราบใดที่ยังมีสปอนเซอร์สนับสนุน และมีคนดู รายการก็ยังเดินต่อไป

คุณสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่าผลกระทบจากการที่มีรายการประกวดร้องเพลงซ้ำๆ กัน ผลสำรวจพบว่าเด็กสมัยนี้เมื่อโตขึ้นอยากเป็นนักร้องมากที่สุด เพราะการมีชื่อเสียงมันง่าย เงินรางวัลก็เยอะ

 

 

“เกือบทุกช่องทำรายการประกวดร้องเพลงเหมือนกันหมด เพราะมันนำมาซึ่งเรตติ้งเพื่อให้ได้โฆษณาตามมา แล้วก็เกิดทำซ้ำๆ กัน เพื่อความอยู่รอด เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ผลประกอบการเกือบทุกๆ ช่องติดลบหมด เป็นภาวะจำยอมที่ผมพูดมาก่อนทีวีดิจิทัลจะเกิดแล้วว่าการเพิ่มช่องมากเกินจะเจอแบบนี้

มันควรต้องมีใครสักคนหนึ่งใช้อำนาจหรือออกกฎหมายพิเศษเพื่อควบคุม ไม่งั้นก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนเด็กๆ อยากเป็นนักร้องมากขึ้นเพราะเข้าใจว่าการเป็นนักร้องง่ายขึ้น เงินเยอะ ซึ่งมันก็เป็นข้อกังวลของสังคม กรรมการผู้ตัดสินที่เก่งและเชี่ยวชาญก็ถูกดึงไปช่องนี้ที ช่องนั้นที หน้าคนๆ เดียวที่เป็นกรรมการ หรือพิธีกรออกหลายช่องมาก มันสะท้อนว่าที่บอกว่าปฏิรูปสื่อมาเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ท้ายที่สุดมันไม่ได้เป็นแบบนั้น

ตอนนี้สื่อเองเหมือนถูกบังคับ การให้สื่อต้องเริ่มต้นด้วยการประมูล เริ่มต้นด้วยทุน ซึ่งนานาประเทศเขาไม่ทำกัน ในที่สุดสื่อก็ถูกอิทธิพลของคำว่าเรตติ้งครอบงำส่งผลกระทบถึงคนดู คือ เนื้อหารายการไม่หลากหลาย เนื้อหารายการที่เน้นแต่เรตติ้ง ถ้าอยากให้มีรายการทีวีหลากหลาย ต้องทำให้สื่อหลุดจากคำว่าเรตติ้งให้ได้


รายการประกวดร้องเพลงฟีเวอร์ทำกันเกร่อจอทีวี ไฉนรูปแบบรายการกลับทำซ้ำๆ เดิมๆ ปัจจัยที่ทำให้ครีเอทีฟต้องมาผลิตรายการเหมือนคนอื่น 'ป๋อมแป๋ม' นิติ ชัยชิตาทร ครีเอทีฟ พิธีกร และนักแสดงบอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่ากระแสนิยมจากคนชมคือหลักสำคัญ

 

 

“รายการประกวดร้องเพลงมีเยอะ การครีเอทีฟจึงสำคัญ ควรสร้างความแตกต่าง หรือมีจุดขาย อย่างรายการ THE MASK SINGER หน้ากากนักร้องที่กำลังฮอต ฮิต มากที่สุดตอนนี้ก็เพราะผู้แข่งขันต้องใส่หน้ากาก คนดู กรรมการหรือแม้แต่พิธีกรก็ได้ลุ้นไปด้วยกันว่าคนร้องคือใคร การที่ผู้ผลิตทำรายการซ้ำๆ กันเป็นเพราะกระแสนิยม ก็คนไทยชอบร้องรำทำเพลง ชอบฟังเพลงมาตั้งแต่อดีต เกี่ยวข้าวก็ร้องเพลง พายเรือก็ร้องเพลง ทำกับข้าวก็ร้องเพลง คนไทยเสพมหรสพด้วยการฟังเพลง เอาง่ายๆ อย่างลิเกก็ร้องเป็นเพลง สาเหตุอีกอย่าง คือ ดีมานด์ ซัพพลาย อาชีพนักร้องเป็นอาชีพที่มีเกียรติ คนชื่นชม คนอยากเป็นนักร้องมีเยอะ พอมีรายการประกวดร้องเพลงมาใหม่ คนก็มาสมัครไม่จบไม่สิ้น มันเป็นอะไรที่ฮิต

ครีเอทีฟที่ดีไม่ควรทำรายการซ้ำกัน ไม่ลอกเลียนแบบกัน ถ้ามีคนมาลอกเลียนแบบทำรายการทอล์ก กะ-เทย ที่แป๋มทำอยู่ แป๋มก็รู้สึกไม่ดีนะ ครีเอทีฟมันเป็นงานที่ขายความคิดสร้างสรรค์ การทำรายการประกวดร้องเพลงต้องคำนึงว่าทำรายการประกวดร้องเพลงอยู่ แก่นหลักของมัน คือ แข่งขันร้องเพลง อย่าเติมเรื่อง ดราม่าอื่นๆ เยอะเพื่อเพิ่มสีสันจนการร้องเพลงเป็นเครื่องประดับของรายการ มันก็ไม่ใช่การประกวดร้องเพลงที่เป็นการประกวดร้องเพลง คนดูรายการประกวดร้องเพลงเขาก็จะไม่ชอบ”


เมื่อต้องเจอรายการร้องเพลงที่ทำซ้ำๆ กันแบบนี้ 'อาต้อย' เศรษฐา ศิระฉายา ผู้คลุกคลีรายการทีวีไทยมา 40 ปี บอกแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ทำให้คุณภาพการครีเอทีฟรายการเหมือนย่ำอยู่กับที่

 

 

“ในอดีตรายการประกวดร้องเพลงที่ดังมากๆ คือ ชุมทางคนเด่น เป็นรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังของ นายห้างประจวบ จำปาทอง ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว สมัยก่อนไม่ค่อยมีรายการแข่งร้องเพลง รายการทีวีจะเป็นเกมโชว์มากที่สุด รองลงมาคือละคร ต่างกับปัจจุบันที่มีรายการแข่งขันร้องเพลงเยอะ แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องดีสำหรับผู้แข่งขัน เพราะทำให้เกิดการตื่นตัวและยกระดับของความเป็นนักร้องให้ดีมากขึ้น เพราะว่าก่อนมาแข่งขัน ทุกคนต้องฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว

ตอนผมทำหน้าที่พิธีกรรายการ ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย เรียลลิตี้ประกวดร้องเพลง ผมก็เห็นการพัฒนาของเด็กๆ ที่เข้าประกวดในแต่ละรุ่นว่าพวกเขาพยายามและมีความมุ่งมั่น ตั้งใจกันจริงๆ รายการประกวดร้องเพลงถ้าผมมีเวลาว่างก็ดูบ้าง ไม่ได้ดูทุกวัน

เรื่องการเห่อทำรายการประกวดร้องเพลงเยอะอย่างตอนนี้ วงจรชีวิตรายการทีวีของไทยเรามันเป็นแบบนี้มานานแล้ว คือ รายการประเภทไหนเริ่มฮิต คนสนใจเยอะ ทุกช่องก็อยากทำรายการประเภทเดียวกัน จึงเกิดการแข่งขันกันค่อนข้างเยอะมาก ผมว่าควรมีรายการประกวดร้องเพลงต่อไป แต่ควรครีเอทีฟรายการให้แปลกๆ ใหม่ๆ บ้างมันจะได้รู้สึกว่าไม่ย่ำอยู่ที่เดิม เช่น เอาแชมป์ของแต่ละรายการมาประกวดกันตอนท้ายปีก็น่าติดตามดี”

หากคุณเป็นเจ้าของสินค้าล่ะ จะตัดสินใจเลือกลงโฆษณาไหม เมื่อมีรายการประกวดร้องเพลงเหมือนๆ กันไปหมด ผู้เชี่ยวชาญด้านมีเดียของบริษัทการตลาดและโฆษณาชั้นนำของประเทศไทยให้ความกระจ่างกับประเด็นนี้โดยทันทีว่า


“ถึงจะมีรายการทีวีเหมือนๆ กัน เช่น การแข่งร้องเพลง หลักการตัดสินใจลงโฆษณาจะดูจาก เรตติ้งของรายการ เรตติ้งสูงก็แสดงว่าคนดูรายการเยอะ โฆษณาหรือแบรนด์ก็เข้าถึงคนได้มาก  เรตติ้ง มี 2 แบบ คือ เรตติ้งของช่อง กับเรตติ้งของรายการขณะฉาย แต่ถ้าเป็นรายการใหม่ๆ ผู้ลงโฆษณาก็จะเลือกตัดสินใจดูว่าลงช่องไหน อยู่ในช่วงไพรม์ไทม์เขาก็จะตัดสินใจซื้อ เรตติ้งสำคัญที่สุดในการตัดสินใจเลือกลงโฆษณา แม้บางรายการทีวีเรตติ้งดี แต่คุณภาพของรายการแย่ก็ยังคงเลือกตัดสินใจลงโฆษณา เพราะกำลังเป็นที่สนใจของคนดู”

จริงอยู่ที่ "เรตติ้ง"​ คือตัวกำหนดรูปแบบของรายการทีวีจนต้องทำรายการเหมือนๆ กันโดยเฉพาะในยุคช่องทีวีมีมากมายจนเกร่อและแข่งขันกันสูงเช่นนี้ แต่จะดีกว่าไหมถ้า ผู้ผลิตคิดค้นทำรายการใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งอาจเรียกเรตติ้งได้ดีมากกว่าของเดิมก็เป็นได้ และหากบรรดาผู้สนับสนุนรายการทีวียังมองว่าเรตติ้งเป็นสำคัญ วงจรการก็อป รายการเพื่อเอาใจสปอนเซอร์ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก

ฉะนั้น หากรายการทีวี จำใจต้องทำเพื่อเอาใจผู้สนับสนุน โดยไม่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ท้ายที่สุดประชาชนในฐานะผู้รับสารที่บิดเบี้ยวแบบนี้ จะได้ หรือ เสียผลประโยชน์  

ข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: