เกาะกระแสเรือดำน้ำ!! มาดูเรือดำน้ำ 4 ลำของไทยในอดีตกัน!





มาเกาะกระแสเรือดำน้ำที่บ้านเราเพิ่งจะนำเข้าประเทศ (และมีโครงการจะเอาเข้ามาอีกลำ) กันหน่อย ซึ่งเราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ 4 เรือดำน้ำสุดเท่ในอดีต ที่ตอนนี้ได้ปลดระวางไปแล้ว ขอบอกเลยว่าแต่ละลำนั้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย

กองทัพเรือได้เริ่มความสนใจในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 ในเอกสารโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453 โดยนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์, นายพลเรือตรี พระยาราชวังสรรค์ และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้กำหนดให้มีเรือ ส. (สับมะรีน หรือเรือดำน้ำ) จำนวน 6 ลำ และต่อมาในปี พ.ศ.2458 นายเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงจัดทำเอกสารรายงานความคิดเห็นเรื่องเรือ ส. ระบุถึงข้อมูลแนวทางการจัดหาเรือดำน้ำ การใช้งาน และสิ่งสนับสนุนต่างๆ โดยละเอียด

จนกระทั่งเป็นเวลาอีก 20 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2478 กองทัพเรือจึงได้เริ่มการจัดหาเรือดำน้ำ โดยได้ตกลงสร้างเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ จากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ร.ล.มัจฉาณุ ร.ล.วิรุณ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ซึ่งกองทัพเรือได้รับมอบเรือดำน้ำ 2 ลำแรก คือ ร.ล.มัจฉานุ และ ร.ล.วิรุณ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 และต่อมากองทัพเรือจึงได้กำหนดให้วันที่ 4 กันยายนของทุกปีเป็น "วันเรือดำน้ำ"

 

เรือหลวงมัจฉาณุ
เป็นเรือดำน้ำประจำกองทัพเรือไทย เป็นประเภทเรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาดเล็ก ประกอบขึ้นที่อู่ต่อเรือบริษัทมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชื่อเรือหลวงมัจฉาณุ มาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ มัจฉานุ จากเรื่องรามเกียรติ์ เข้าประจำการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส เรือดำน้ำทั้ง ได้ออกไปลาดตระเวนอยู่หน้าฐานทัพเรือเรียม (กัมพูชา) ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมงขึ้นไป นับเป็นการดำที่นานที่สุด และปลดประจำการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลก และไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และโรงงานแบตเตอรีของไทยที่ตั้งขึ้นก็ไม่สามารถผลิตแบตเตอรีสำหรับใช้ประจำเรือได้ ซึ่งตอนนี้ก็ได้จอดเทียบที่ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาได้มีการขายเรือให้กับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เพื่อทำการศึกษาและ Reverse engineering คงเหลือแต่หอบังคับการ อาวุธปืน และกล้องส่องทาง กองทัพเรือได้นำมาจัดสร้างสะพานเรือจำลอง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

 

เรือหลวงวิรุณ
เป็นเรือดำน้ำประจำกองทัพเรือไทย เป็นชื่อพระราชทานมาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ วิรุณจำบัง จากเรื่องรามเกียรติ์ ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่สอง ปลดประจำการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่เช่นกัน

 

 

เรือหลวงสินสมุทร
เป็นเรือดำน้ำประจำกองทัพเรือไทย ชื่อเรือหลวงสินสมุทร เป็นชื่อพระราชทาน มา ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2480 มาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ สินสมุทร จากเรื่องพระอภัยมณี

 

 

เรือหลวงพลายชุมพล
ประกอบขึ้นที่อู่ต่อเรือบริษัทมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกันจำนวน 4 ลำ พร้อมกับ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ และเรือหลวงสินสมุทร ชื่อเรือหลวงพลายชุมพล เป็นชื่อพระราชทานมาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ พลายชุมพล จากเรื่องขุนช้างขุนแผน เรือหลวงสินสมุทรและเรือหลวงพลายชุมพล ประกอบแล้วเสร็จสมบูรณ์ บริษัทมิตซูบิชิได้ทำพิธีส่งมอบเป็นกรรมสิทธิของกองทัพเรือไทย และนำลูกเรือเข้าประจำเรือ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2481 เรือดำน้ำของไทยทั้งสี่ลำ เดินทางออกจากเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2481 ถึงกรุงเทพเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เข้าประจำการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่สอง เรือหลวงมัจฉาณุปลดประจำการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 พร้อมกันทั้ง 4 ลำ เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลก และไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: