20 เมษายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ….. มีสาระสำคัญคือการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2560 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น บางรายการ จำนวน 11,816,512,300 บาท ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายสำหรับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยหน่วยงานที่ถูกโอนงบประมาณมากที่สุด3 ลำดับแรกได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ 1,087,270,800 บาท กระทรวงมหาดไทย 541,552,100 บาท กระทรวงสาธารณสุข 417,136,100 บาท ขณะที่กระทรวงกลาโหมถูกโอนงบประมาณไป 55,847,700 บาท
จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อที่ประชุมว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 6 มาตรา เป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเป็นบางรายการไปตั้งเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 11,866,512,300 บาท เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ
1. การนำงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ไปตั้งจ่ายเป็นงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน
2. จะส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
ดังนั้น การโอนงบดังกล่าวเพราะรัฐบาลเห็นว่าการโอนงบประมาณจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเห็นได้จากการโอนงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยะสำคัญ สะท้อนการใช้จ่ายงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นดีขึ้น
“เนื่องจากการจัดทำงบรายจ่ายประจำปี เป็นการจัดทำล่วงหน้านานๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมของแต่ละปี คือมีการจัดทำก่อนถึงปีงบประมาณจริงอย่างน้อย 9 เดือน ดังนั้นจะเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปรายการงบประมาณบางรายการจึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ การโอนรายจ่ายจะทำให้สามารถนำงบประมาณไปใช้จ่ายข้ามหน่วยงานได้ ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณในภาพรวมใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น” นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแบบ 3 วาระรวด ก่อนให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ด้วยคะแนนเสียง 207 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียงโดยใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 1 ชั่วโมง
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ