ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 ได้จัดอบรมครูผู้สอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาทั้งจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 11-14 พ.ค.2560 ในการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่านออกและสื่อสารได้ วิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา ด้วยการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ PLC (Professional Learning Community) ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 โดยมีครูผู้สอนภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้ง 9 อำเภอ เข้าร่วมอบรมรวมกว่า 400 คน ซึ่งนางสาวเนาวะรัตน์ ถาวร ผอ.โรงเรียนบ้านหนองแก อ.วังน้ำเย็น และครูในของโรงเรียน 4 คนร่วมเป็นวิทยากร ในการถ่ายทอดนวัตกรรมการสอน ภายหลังโรงเรียนบ้านหนองแกประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนจนนักเรียนสามารถสอบโอเน็ตได้คะแนนสูงระดับประเทศ
น.ส.เนาวะรัตน์ ถาวร ผอ.โรงเรียนบ้านหนองแก เปิดเผยว่า โรงเรียนนำนวัตกรรมการสอนแบบ PLC มาจัดการเรียนการสอนกับเด็กระดับประถมศึกษาตั้งแต่ปี 2556 ในการสอนภาษาไทย จนนักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างดี และเชื่อมโยงมาใช้กับการสอนภาษาอังกฤษ ในปี 2559 จนประสบความสำเร็จ นักเรียนของโรงเรียนสามารถสอบโอเน็ตได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 61 ติดอันดับคะแนนสูงระดับประเทศ ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของเด็กนักเรียนทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยถึงร้อยละ 27 ส่วนคะแนนโอเน็ตของนักเรียนประถมใน จ.สระแก้วอยู่ที่ร้อยละ 28 ดังนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 จึงต้องการให้เรามาถ่ายทอดวิธีการ เพื่อให้ครูในจังหวัดนำไปปรับใช้ ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนกว่า 100 แห่ง มาดูงานและนำไปใช้แล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ผอ.โรงเรียนบ้านหนองแก เปิดเผยวิธีการสอนว่า จะใช้สีในการกำหนดขั้นตอนในการอ่าน เช่น สีดำ ซึ่งมีความหมายเป็นพยัญชนะต้น สีแดงเป็นสระ และสีน้ำเงินเป็นตัวสะกด เวลาที่เด็กแจกรูปสะกดคำ ก็ต้องอ่านสีดำ สีแดงและสีน้ำเงิน ส่วนสีเขียวจะเป็นวรรณยุกต์ ถ้าเด็กเห็นสีดำและน้ำเงิน จะรู้ว่า คำนั้นลดรูป โดยสีจะเป็นตัวกำหนดให้เด็กลำดับความสำคัญในการอ่าน ทำให้เด็กนักเรียนอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ดังนั้น สิ่งที่เราค้นพบคือ เมื่อเด็กสามารถแยกสี การวางรูปคำได้ จึงสามารถอ่านได้โดยไม่ต้องจดจำอักษร แต่มีสีเป็นตัวกำหนด เมื่อเด็กอ่านหนังสือได้ คะแนนสอบที่ได้จึงสูงเป็นอันดับ 1 ของเขตพื้่นที่การศึกษา
"หลายโรงเรียนเอานวัตกรรมนี้ไปใช้ และเห็นการพัฒนาของเด็กที่แตกต่าง ซึ่งเกิดผลจริงกับเด็ก ถ้าประเทศไทยจะแก้ปัญหาเด็กไทยอ่านภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ออก เขียนไม่ได้ ต้องแก้ทั้งระบบ และแก้ตั้งแต่ต้นทาง เราเริ่มจนสำเร็จ ถือเป็นวิธีการที่ยั่งยืน ครูผู้สอนจะไม่เหนื่อยและท้อ ทุกวันนี้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ให้มาทำข้อสอบจะเกิดประโยชน์อะไร ควรปูพื้นให้กับเด็กตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเราทำสำเร็จและเป็ฺนที่ฮือฮามาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว จึงนำมาเป็นต้นแบบเพื่อให้ครูผู้สอนในจังหวัดนำไปเป็นต้นแบบ หลังจากนี้หากจังหวัดสระแก้วสามารถทำและเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ฺ คาดว่า ไม่เกิน 2 ปี น่าจะสามารถขับเคลื่อนไปทั่วจังหวัด " น.ส.เนาวะรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสุจินต์ ศรีสรวล ผู้อำนวยการกลุ่มศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 กล่าวว่า โครงการนี้ นายไสว สารีบท ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว ให้ความสำคัุญกับเรื่องนี้ โดยสนันสนุนให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่านออกและสื่อสารได้ ด้วยการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community) ในวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทย สำหรัุบครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาในพื้นที่ รวม 9 อำเภอ กว่า 400 คน ด้วยการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community) ทั้งนี้ นวัตกรรมการสอนดังกล่าว จะนำไปในโรงเรียนสังกัด สพป.ทุกโรงเรียนในจังหวัดสระแก้ว ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 นี้
ข่าวจาก : Nation TV
ภาพจาก : sk1edu.go.th
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ