สธ. แจงบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ ทยอย 3 ปี ได้ถึง 13,583 ตำแหน่ง จัดสรรให้พื้นที่ขาดแคลนตามกรอบอัตรากำลังก่อน คาด 20 ปีนี้ ไม่น่ามีปัญหาบรรจุอีก เว้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต้องการคนเพิ่มขึ้น พร้อมตั้ง คกก. ดูแลกำลังด้านสุขภาพแยกจาก คปร. โดยเฉพาะ
จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่ให้แก่พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้ตำแหน่งว่างที่มีอยู่นำไปบริหารจัดการ จนกลายเป็นประเด็นร้องแรงในแวดวงกระทรวงหมอถึงขั้นขู่ลาออกจากโรงพยาบาล จนล่าสุด การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา ครม. ได้รับกลักการเตรียมที่จะบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการจำนวนกว่า 8,800 อัตรา ในระยะเวลา 3 ปี โดยให้ สธ. กลับไปจัดทำรายละเอียดและส่งกลับมายัง ครม. ใหม่
17 พ.ค. เมื่อเวลา 09.00 น. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อทำความเข้าใจกรณีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการกับพยาบาลทั่วประเทศ ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่งทั่วประเทศ โดย นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการบริหารจัดการตำแหน่งว่างปี 2560 ที่ สธ. มีอยู่ให้แก่ทุกวิชาชีพนั้น ในส่วนของพยาบาลจะได้ประมาณ 2,200 ตำแหน่ง เมื่อหักออกจาก 10,992 ตำแหน่ง ก็จะเหลือประมาณ 8,792 ตำแหน่ง ซึ่ง ครม. ให้ สธ. กลับมาจัดทำรายละเอียดในการแบ่งบรรจุ 3 ปี แบ่งเป็นปี 2560 จำนวน 2,930 ตำแหน่ง ส่วนปี 2561 และ 2562 แบ่งปีละ 2,931 ตำแหน่ง ซึ่ง สธ. ได้ทำเรื่องส่งไปยังคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) แล้ว และจะมีการประชุมในวันที่ 18 พ.ค. นี้ โดย คปร. จะเป็นผู้นำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้าหรือช้าสุดในสัปดาห์ถัดไป
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมตำแหน่งในการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการในปี 2560 จะมีอยู่ประมาณ 5,885 ตำแหน่ง มาจากการบริหารจัดการตำแหน่งว่างที่มีอยู่ 2,200 ตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้จัดสรรไปยังเขตสุขภาพแล้ว 1,200 ตำแหน่ง และจะเกลี่ยได้ในเร็วๆ นี้ อีก 1,000 ตำแหน่ง รวมกับตำแหน่งที่ ครม.อนุมัติ 2,930 ตำแหน่ง และจากการเกษียณอีก 755 ตำแหน่ง ส่วนปี 2561 จะบรรจุได้ประมาณ 3,743 ตำแหน่ง มาจากที่ ครม.อนุมัติ 2,931 ตำแหน่งรวมกับเกษียณ 812 ตำแหน่ง และปี 2562 บรรจุได้ 3,955 ตำแหน่ง มาจาก ครม.อนุมัติ 2,931 ตำแหน่งและเกษียณอีก 1,024 ตำแหน่ง รวมแล้ว 3 ปีจะบรรจุได้ประมาณ 13,583 ตำแหน่ง ซึ่งน่าจะเพียงพอกับพยาบาลที่ยังไม่ได้บรรจุข้าราชการที่มีอยู่จำนวน 13,603 คน แบ่งเป็น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน ลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน และพนักงานราชการ 260 คน
“สำหรับการจัดสรรตำแหน่งให้แก่พยาบาลจะยึดตามกรอบอัตรากำลังตามภาระงาน (FTE) คือ การคำนวณจากภาระงานว่าต้องการกำลังคนจำนวนเท่าไร โดยจะจัดสรรตำแหน่งลงไปยังพื้นที่ที่ขาดก่อน หากอัตรากำลังเกินจากกรอบก็จะไม่จัดสรรให้ เพื่อเป็นการเกลี่ยคนไปยังพื้นที่ที่ขาดหรือมีความต้องการ ซึ่งทิศทางการบรรจุจะเป็นเช่นนี้ ดังนั้น หากอยากบรรจุก็ต้องขยับไปในพื้นที่ที่ขาดด้วย รวมถึงยึดตามอายุงานของพยาบาล โดยที่ใดมีตำแหน่งก็จะให้รุ่นพี่ไปก่อน หากรุ่นพี่ไม่ไปก็ค่อยให้รุ่นน้องไป” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับระยะยาวเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ เนื่องจาก คปร. จะดูแลกำลังคนในภาพใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะตั้งคณะกรรมการชุดกำลังคนด้านสุขภาพโดยเฉพาะแยกจาก คปร. โดยให้ สธ. กำหนดเป้าหมายกำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงในส่วนของสังกัดกระทรวงกลาโหม มหาวิทยาลัยด้วย ส่วนข้อกังวลเรื่องความต่อเนื่องของการบรรจุ 3 ปีนั้น ขอให้มั่นใจเพราะว่าเป็นมติของ ครม. ทุกอย่างขึ้นอยู่กับระบบ มิใช่ตัวคน ขณะที่พยาบาลที่จะเข้ามาสู่ระบบใหม่ปีละประมาณ 3,000 กว่าคนนั้น ในปี 2564 เป็นต้นไป จำนวนเกษียณค่อนข้างใกล้เคียงกับจำนวนพยาบาลเข้าใหม่ก็จะค่อนข้างสมดุล ซึ่งหากดูต่อเนื่องไปจนถึงปี 2579 จะมีการเกษียณถึง 4,000 กว่าตำแหน่ง เชื่อว่าหากบริหารจัดการตามนี้ น่าจะแก้ปัญหาได้ 20 ปีนี้ น่าจะไม่มีปัญหา เว้นแต่หากประเทศไทยเข้าสู่ผู้สูงอายุและมีความต้องการเพิ่มขึ้น
ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ