ครม.ไฟเขียว! อนุมัติงบ 2.3พันล้าน ให้ ทบ.ซื้อ”รถเกราะจีน”





 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 (VN1) จำนวน 34 คัน จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน งบประมาณ 2,300 ล้านบาท ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำเข้า ครม. โดยอนุมัติงบผูกพัน ปี 2560-2563 และอนุมัติให้กองทัพบก(ทบ.)เดินทางไปเซ็นสัญญาจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ทั้งนี้ สำหรับโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง (ระยะที่ 2) เพื่อทดแทนรถยานเกราะ วี150 และรถสายพาน เอ็ม 113 เอ3 ที่ใช้งานมาแล้ว 40- 50 ปี เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ คือ ทบ. ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) มี 3 ประเทศ ที่ยื่นแบบ คือ 1.ยานเกราะล้อยาง บีอาร์ที-4 อี ประเทศยูเครน 2.ยานเกราะล้อยาง บีทีอาร์-82 เอ สหพันธรัฐรัสเซีย 3.ยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จากจีน ทั้งนี้ คณะทำงานพิจารณารับรองแบบและเตรียมการจัดหายานเกราะล้อยาง ได้ให้คะแนนความพอใจ อันดับที่ 1 ยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 ของจีน โดยเบื้องต้นรถยานเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 จะเข้าประจำการที่กองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1 ) ที่กองพันทหารม้าที่ 10 (ม.พัน.10) ค่ายสุริยพงษ์ จ.น่าน และกองพันทหารม้าที่ 7 (ม.พัน.7) ค่ายพิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์

ทั้งนี้ การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทบ.ที่ผ่านมา เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการซื้อรถถัง วีที-4 (VT-4) สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระยะที่ 2 จำนวน 10 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านั้น ปี 2559 ทบ.ได้ลงนามซื้อรถถัง วีที-4 จากประเทศจีนไปแล้ว 28 คัน วงเงิน 4,900 ล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพและทดแทนรถถังรุ่นเก่า

ล่าสุด คือการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 (VN1) จำนวน 34 คัน จากจีน ด้วยงบประมาณ 2,300 ล้านบาท สำหรับความจำเป็นในการจัดหายานเกราะครั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจะราบรื่น แต่ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในอนาคต กองทัพจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมไว้ โดยเฉพาะหน่วยทหารม้า ที่ใช้รถถังและรถลำเลียงพลเป็นยุทโธปกรณ์หลัก ซึ่งปัจจุบันยุทโธปกรณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ในการซ่อมบำรุง อาทิเช่น รถถังเบา เอ็ม 41 เอ 3 ปลดประจำการเป็นยุทโธปกรณ์ล้าสมัยแล้ว รถสายพานลำเลียงพล เอ็ม 113 ซึ่งประจำการตั้งแต่ปี 2505 รถเกราะวี-150 ซึ่งประจำการตั้งแต่ปี 2521 และรถสายพานลำเลียงพลแบบ 85 อีกทั้งจำนวนที่มีประจำการอยู่ยังขาดอัตราเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหน่วยทหารม้าบรรทุกยานเกราะ จึงส่งผลให้เกิดความไม่พร้อมรบในการปฏิบัติภารกิจของหน่วย ดังนั้นการจัดหายานรบให้กับหน่วยทหารม้าจึงมีความจำเป็น

ส่วนความเป็นมาของโปรเจ็กต์ดังกล่าวมีรายงานว่า ภายหลังการจัดหายานเกราะล้อยางบีทีอาร์-3 อี 1 (BTR 3 E1) จากประเทศยูเครน (ระยะที่ 1) เมื่อปี 2551 และปี 2554 ครั้งนี้เป็นโครงการจัดหายานเกราะ (ระยะที่ 2) คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) ได้กำหนดให้มีการประชุมเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2559 เพื่อพิจารณารับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ ยานเกราะล้อยางขึ้นอีกจำนวน 4 แบบสำหรับเป็นมาตรฐานให้หน่วยที่เกี่ยวข้องใช้ในการจัดหายุทโธปกรณ์มาใช้ใน ทบ. ที่ประชุม กมย.ทบ.มีความเห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอให้พิจารณาเป็นเพียงข้อมูลจากเอกสารของบริษัทที่เป็นตัวแทนในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าหากพิจารณารับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ไปแล้วอาจจะเกิดความไม่รอบคอบและผิดพลาดได้

โดยระเกราะรุ่นนี้ เป็นรถเกราะที่มีความทันสมัยรุ่นล่าสุด คุณลักษณะของยานรบทหารราบ ห้องโดยสารขนาดใหญ่ บรรทุกกำลังพลได้ 1 หมู่ปืนเล็ก (13 คน) องค์ประกอบหลักและชิ้นส่วนของรถเกราะ บริษัท นอรินโก้ ผลิตเองทั้งหมดโดยใช้เทคโนโลยีที่บริษัทซื้อจากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ใช้เครื่องยนต์ดีเซลระบายความร้อนด้วยน้ำของ DEUTZ รุ่น BF6M1015CP มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง ความเร็วบนถนน 100 กม./ชม.ความเร็วในน้ำ 8 กม./ชม.(ขับเคลื่อนด้วยใบพัด)

เป็นรถเกราะที่มีความทันสมัยรุ่นล่าสุด คุณลักษณะของยานรบทหารราบ ห้องโดยสารขนาดใหญ่ บรรทุกกำลังพลได้ 1 หมู่ปืนเล็ก (13 คน) องค์ประกอบหลักและชิ้นส่วนของรถเกราะ บริษัท นอรินโก้ ผลิตเองทั้งหมดโดยใช้เทคโนโลยีที่บริษัทซื้อจากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ใช้เครื่องยนต์ดีเซลระบายความร้อนด้วยน้ำของ DEUTZ รุ่น BF6M1015CP มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง ความเร็วบนถนน 100 กม./ชม.ความเร็วในน้ำ 8 กม./ชม.(ขับเคลื่อนด้วยใบพัด)

ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบไฮดรอลิก เพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ ระบบห้ามล้อแบบสองวงจรใช้ลมช่วย เพิ่มประสิทธิภาพในการหยุดรถ ตัวถังแบบปิดสนิท มีระบบป้องกัน นิวเคลียร์ ชีวะ เคมี (นชค.) ระบบปรับอากาศระบบสูบและปล่อยลมยางอัตโนมัติ มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และใช้ยางล้อแบบเพิ่มความปลอดภัย (run-flat) ทำให้รถเกราะมีความอยู่รอดในสนามรบสูง

-อาวุธหลักเป็นปืนอัตโนมัติ ขนาด 30 มม. ติดตั้งอยู่บนป้อมปืนที่หมุนได้รอบตัว ป้อมปืนติดตั้งฐานยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง มีปืนกล ขนาด 7.62 มม. เป็นปืนกลร่วมแกน มีเครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติร่วมแกน ขนาด 35 มม. และเครื่องยิงลูกระเบิดควันขนาด 76 มม. (6 ท่อยิง) กล้องเล็กกลางคืนเป็นแบบเทอร์มอล มีประตูเข้า-ออกของกำลังพลอยู่ทางด้านหลังรถ เพื่อป้องกันการตรวจการณ์จากข้าศึกและลดอันตรายจากอาวุธยิงเล็งตรง ตัวรถของรถเกราะ VN1 สามารถดัดแปลงให้เป็นรถใช้งานแบบต่างๆ ได้มากกว่า 30 แบบ มีชิ้นส่วนอะไหล่สนับสนุนไม่น้อยกว่า 20 ปี รัฐบาลจีนยินดีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจะมาประกอบรถในประเทศไทย

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: