จากที่ พรบ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 โดยในมาตรา 51 ระบุว่า ให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้าง เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ ถ้าผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งไม่ได้หักเงินได้พึงประเมิน หัก และไม่ได้นำส่ง หรือนำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือหัก และนำส่งเกินกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นำส่ง หรือตามจำนวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี
นายปรเมศวร์ สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายคดีและบังคับคดี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลของลูกหนี้ กยศ. ที่มีอยู่ 4.8 ล้านคน โดยจะประสานไปยังหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชน เพื่อทำเรื่องหักบัญชีเงินเดือนของลูกจ้างนำเงินส่งคืนกองทุนกยศ.
ทั้งนี้ จะเริ่มหักรายได้ลูกหนี้ กยศ. ที่เป็นข้าราชการและรัฐวิสาหกิจก่อน ซึ่งมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ.และค้างชำระหนี้ ทั้งสิ้น 2 แสนราย มูลหนี้ 8 หมื่นล้านบาท จากนั้นจึงจะประสานไปยังบริษัทเอกชนเพื่อหักรายได้ของลูกจ้าง โดยเชื่อว่าจะช่วยลดยอดหนี้ค้างชำระที่มีอยู่ร้อยละ 53 ของจำนวนลูกหนี้ค้างชำระทั้งหมด 1.9 ล้านราย มูลหนี้ 6.2 หมื่นล้านบาท
ข่าวจาก : คมชัดลึกออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ