"หมอธี" กลบกระแสข่าวลือเกิดการแตกแยกในศธ. "ศธภ.-ศธจ." ไม่เกิดประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา ย้ำทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมสร้างสิ่งใหม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ พร้อมออกแบบตัวชี้วัดคุณภาพและเกณฑ์การประเมินตนเอง เชื่อเป็นตัวช่วยที่ทำให้สถานศึกษารู้สมรรถนะจุดอ่อนจุดแข็ง วอนโรงเรียนอย่าเชื่อว่ามีการรับจ้างประเมิน
ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ – สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้จัดโครงการประชุมพัฒนาผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวมอบนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในส่วนภูมิภาคตอนหนึ่ง ว่า การปฏิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาคด้วยการให้มี ศธภ.และ ศธจ.นั้น ตนยอมรับว่าส่วนตัวมีความกังวล เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเกิดความแตกแยกกันเองใน ศธ. ระหว่างสำนักงานปลัด.ศธ. กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกทั้งการมี ศธภ.และ ศธจ.อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา แต่เมื่อเดินหน้าเรื่องดังกล่าวมาถึงจุดนี้แล้ว ตนเชื่อว่า ศธภ.และ ศธจ.จะร่วมบูรณาการการทำงานกับทุกฝ่ายได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นตนจึงมีความคาดหวังว่า ศธภ.และ ศธจ.จะต้องสร้างสิ่งใหม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษาให้ได้
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศธ.จะออกแบบตัวชี้วัดคุณภาพและเกณฑ์การประเมินตนเองให้กับ ศธภ.และ ศธจ.ด้วย เพราะจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ทราบถึงสมรรถนะจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง และอีกบทบาทหน้าที่ของ ศธภ.และ ศธจ. คือ จะต้องติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบ พร้อมกับส่งเสริมงานวิชาการ รวมถึงการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 และการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ ศธ.ได้เสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ…. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อผ่านการรับฟังความคิดเห็นก็จะนำเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ 61 และขอย้ำว่าเกณฑ์ประเมินคุณภาพรูปแบบใหม่ ขอให้ฟังนโยบายจากส่วนกลางและ สมศ.เท่านั้น อย่าไปหลงเชื่อว่ามีการรับจ้างประเมิน
โดยแนวทางการประเมินคุณภาพภายในรูปแบบใหม่ สถานศึกษาจะเป็นผู้กำหนด และไม่มีการลงไปประเมินซ้ำซ้อน จาก ศธ. และจะไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดอะไรทั้งสิ้น จะใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ เมื่อสถานศึกษาประเมินตนเองแล้วก็จะส่งผลการประเมินมายังคณะกรรมการที่จะลงไปตรวจสอบ นี่คือหลักการในเบื้องต้น โดย ศธ.จะเป็นผู้สนับสนุนและกำกับติดตามเท่านั้น ซึ่งการประเมินจะมีคณะกรรมการจาก 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สมศ., ศธภ.และ ผอ.โรงเรียนที่เป็นอิสระ ซึ่งผลประเมินนอกจากจะเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ยังจะทำให้เกิดการกำกับเกิดขึ้นได้ จะไม่มีการสั่งให้ครูใช้เวลานั่งทำตัวชี้วัดแบบเยอะๆ เหมือนที่ผ่านมา
"นอกจากนี้จะมีการปรับหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยให้มีหน่วยงานกลางออกข้อสอบ เช่นเดียวกับการสอบข้าราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อเริ่มใช้ในการคัดเลือกครูผู้ช่วยในปี 2561 ด้วย" รมว.ศธ.กล่าว
ข่าวจาก : ไทยโพสต์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ