เรื่องจาก : ล็อกอิน สมาชิกหมายเลข 2871959
เว็บไซต์ : https://pantip.com/topic/36572756
แม่ตาย แต่ได้เงินแสน
ต้องขอโทษทุกท่านที่ตั้งหัวเรื่องชวนดราม่าไปหน่อย จุดประสงค์ที่ตั้งหัวข้อแรง เรียกแขกแบบนี้ ขอยอมรับตามตรงว่าอยากให้คนเข้ามาอ่านเยอะๆ เพราะ!!!
1.เพื่อนเป็นวิทยาทานแก่ทุกท่าน
2.เพื่อให้คนอ่านทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่คนทำประกันสังคมต้องได้รับ
3.เพื่อให้คนที่ยังอยู่จัดการเรื่องของคนตายให้ถูกต้อง
4.เพื่อให้คนที่ทำหรือยังไม่ทำประกันสังคมมองเห็นความสำคัญของสวัสดิการนี้
เริ่มเรื่องนะคะ เราเป็นลูกคนเดียวอาศัยอยู่กับแม่และพ่อ(พ่อเลี้ยง) ปัจจุบันอายุ 24 ค่ะ เพิ่งเรียนจบและรับปริญญาให้พ่อแม่ภูมิใจเมื่อปีที่แล้ว เม.ย. 59 ที่ผ่านมา เริ่มทำงานทันทีหลังเรียนจบได้ 1 ปีเศษและแน่นอนว่าเงินเก็บยังไม่มีค่ะ
ในส่วนของคุณแม่คือคนที่จ่ายเงินประกันสังคมมาประมาน 22 ปี ตั้งแต่เป็นสาวโรงงาน จนกระทั่งในปี 2548 ได้ลาออกเพื่อรับงานมาทำเองที่บ้าน คล้ายแนวฟรีแลนซ์ค่ะ แต่แม่ยังคงส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 ทุกเดือน ขั้นต่ำคือ 432 บาท ตอนที่แม่เสียชีวิตอายุแค่ 49 (ตามบัตรประชาชน) อายุจริง 52 ค่ะ
ปลายเดือน ก.พ. 60 คุณแม่ป่วยเป็นไข้เลือดออก รักษาตัวที่ รพ.ตามสิทธิ์ประกันสังคม(รพ.เอกชน) อาการแม่แย่มากกว่าหมอจะให้แอดมิด ก็ได้ยากลับมากินเอง 3 ครั้ง จนครั้งที่ 4 หมอสั่งแอดมิททันที พบว่าแม่เป็นไข้เลือดออก รักษาไข้เลือดออกอยู่หลายสัปดาห์ จนกระทั่งเชื้อไข้เลือดออกหมดไป แต่……แม่ยังคงตัวร้อนและมีไข้สูงถึง 39-40 องศาโดยไม่ทราบสาเหตุ จนทำให้หมอต้องเจาะไขสันหลังไปตรวจ
เดือน มี.ค. 60
รพ.แจ้งกลับมาว่า ไขสันหลังของแม่มีเลือดปนมากและสรุปผลว่า เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว แบบเฉียบพลัน เชื้อมะเร็งลามไปทุกส่วนของร่างกายแล้วกว่า 90% ทาง รพ. ต้นสังกัดได้ส่งตัวคุณแม่ไปรักษาต่อที่ รพ.จุฬา
ก่อนออกจาก รพ.ต้นสังกัดเคลียค่ารักษาพยาบาล อยู่ที่ 155,000 บาท ตรงส่วนนี้ประกันสังคมครอบคลุมความคุมครอง ทำให้เราและพ่อไม่ต้องควักเงินในกระเป๋า ตอนนั้นเรากับพ่อค่อนข้างเครียดเรื่องค่ารักษา แต่พอได้คุยกับการเงินของ รพ. ก็เบาใจที่แม่ใช้สิทธิประกันสังคม
เดือน เม.ย. 60
เริ่มรักษาต่อ ที่ รพ.จุฬา เริ่มให้ คีโมและพักฟื้นที่ รพ.จุฬา 1 เดือน อาการแม่ดีขึ้น ตอบสนองยาดี แต่มีอาการอย่างเดียวคือ แพ้เกล็ดเลือด เมื่อจบการทำคีโม รอบที่ 1 หมอให้กลับมาอยู่บ้าน เคลียค่ารักษาพยาบาล ประมาน 750,000 บาท เป็นส่วนที่ประกันสังคมครอบคลุม
และมีค่าใช้จ่ายอีก 70,000 กว่าบาทที่ ประกันสังคมไม่ครอบคลุมซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยารักษานอกบัญชี ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องกิน (เงินในส่วน 70,000 นี้ เรากับพ่อช่วยกันหา ช่วงนั้นเราและพ่อทำงาน 7 วันรวดไม่พัก เพื่อหาเงินจ่ายค่ายานอกบัญชีทั้งหลายที่จำเป็น)
ต้นเดือน พ.ค.
หมอที่ จุฬา นัดทำ คีโมรอบที่ 2 อยู่ รพ. 7 วัน และกลับมาพักฟื้นที่บ้านต่อ จนกระทั่ง
วันที่ 23 พ.ค. 60
หมอที่ รพ. จุฬานัดตรวจและพบว่าเกล็ดเลือดลดลงเหลือ 200 หมอจึงให้เกล็ดเลือดเพิ่มแล้วกลับบ้าน คืนนั้นแม่มีอาการไข้ขึ้น
วันที่ 24 พ.ค. 60
ไปหาหมอที่ รพ.ต้นสังกัด สั่งแอดมิทช่วงบ่ายย้ายแม่อยู่ห้องรวม หลังจากนั้น 1-2 ชม. ย้ายแม่เข้าห้องปลอดเชื้อ ตอน 2 ทุ่มในวันเดียวกัน ย้ายเข้าห้อง ICU
วันที่ 25 พ.ค.60
ตอน 8.40 พยาบาลแจ้งว่าแม่ได้จากไปอย่างสงบแล้ว
ณ ตอนนั้นเคว้งมากๆ ร้องไห้อย่างหนัก แต่พ่อยังมีสติแล้วบอกเราว่า ร้องไห้ให้พอแล้วรีบตั้งสติเรายังมีเรื่องเอกสารที่ต้องเดินเรื่อง ต้องเข้มแข็ง ในวันนั้น พ่อ เรา และป้า เดินเรื่องติดต่อวัด และเทศบาลในการแจ้งตาย กำหนดสวดศพแม่ 3 วัน จนกระทั่ง
วันที่ 29 พ.ค.60
เป็นวันที่เราและพ่อไปเก็บกระดูกแม่ และติดต่อเรื่องประกันสังคม
เขตที่เราไปติดต่อคือประกันสังคมเขต สมุทรปราการ พอเข้าไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และเตรียมเอกสาร ซึ่งพี่เจ้าหน้าที่ได้ทำไฮไลต์เอกสารที้เราต้องใช้ ตามรูปด้านล่างนี้ค่ะ
ตอนเอาเอกสารยื่นเจ้าหน้าที่ เขาก็จะถามสาเหตุการตายว่าทำไมถึงตาย ป่วยนานแค่ไหน รักษานานแค่ไหน รักษาที่ไหนบ้าง บลาๆ ดูๆไปก็คล้ายตำรวจสอบสวนคดีเหมือนกันนะคะ แต่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องบันทึกข้อมูลให้ละเอียดที่สุดเท่าที่นะทำได้ เพราะฉะนั้น หากเจ้าหน้าที่ประกันสังคมซักไซร้ ถามจี้ ถามละเอียดยิบ ก็อย่าไปว่าเขาเลยนะคะ เขาทำตามหน้าที่ค่ะ
ตามสิทธิประกันสังคมตามกฏหมายแล้ว เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต สิทธิ์ลำดับแรกคือ
1.พ่อแม่ของผู้ประกันตน
2.สามี/ภรรยาของผู้ประกันตน(ที่จดทะเบียนสมรส)
3.บุตร
กรณีของเราคือ ตาและยาย เสียแล้ว เราจึงต้องนำใบมรณบัตรของตายาให้พี่เจ้าหน้าที่ และเราต้องไปที่ ที่ว่าการอำเภอสมุทรปราการเพื่อไปคัดสำเนาทะเบียนครอบครัว ว่าแม่เราได้จดทะเบียนสมรสกับใครไว้หรือไม่ หากไม่มีการจดทะเบียน ทางอำเภอจะให้เป็นเอกสารที่ออกจากระบบ และเป็น – ข้อมูลว่างเปล่าไว้ ต้องนำตัวนั้นไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ประกันสังคม
สิทธิ์ที่จะได้รับเงินกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตคือ
1.ค่าทำศพ ( 40,000 บาท )
2.เงินสงเคราะห์กรณีตาย
3.เงินชราภาพ
#ในส่วนของข้อ 2 และ 3 มีวิธีคิดคำคำนวนเงินที่จะได้รับ ตามลิงค์ ด้านล่างนี้ค่ะ (เว็บนี้เข้าใจง่ายที่สุดแล้วค่ะ) : oknation.nationtv.tv/blog/K-Expert/2013/05/31/entry-1
กรณีของเรา
1.เงินค่าทำศพ พ่อเราเป็นผู้รับ กรณีนี้ใครเป็นผู้รับเงินก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ สามี บุตร หรือญาติพี่น้องก็ได้ แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันจากทางวัดว่า บุคคลนี้เป็นผู้ดำเนินการเรื่องงานศพจริง และต้องมีพยานยืนยัน 2 คน ในส่วนของพยานยืนยันต้องใช้บัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของพยานแนบด้วย และพ่อต้องเขียนข้อความประมาณว่า อยู่กินฉันท์สามีภรรยากับแม่โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส พร้อมเซ็นกำกับด้วยค่ะ เงินที่ได้รับจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคาร
2. เงินสงเคราะห์กรณีตาย เราได้มาประมาน 28,000 บาท เงินถูกโอนเข้าบัญชีธนาคาร (วิธีคำนวนกรุณาดูที่ Link ด้านบนค่ะ)
3.เงินชราภาพ เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่ได้เยอะมากที่สุด เจ้าหน้าที่ประกันสังคมอธิบายว่า เงินส่วนนี้จะมีปันผลและดอกเบี้ยด้วย หากคำนวนเองก็จะทราบคราวๆว่าประมานเท่าไร (วิธีคำนวณกรุณาดูที่ Link ด้านบนค่ะ)
แม่เราส่งประกันสังคมมาประมาณ 22ปี แต่ในส่วนของสิทธิชราภาพนี้เพิ่งประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2542 ดังนั้นการคำนวนเงินที่ได้จึงคำนวนจากปี 2542 – 2560 เท่านั้น เงินส่วนนี้ เราได้รับมาประมาน 74,400 บาท เงินถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารเช่นเดิม
ตั้งแต่วันที่ยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคม จนกระทั่งได้เงิน ระยะเวลาแค่ 2 อาทิตย์ค่ะ
ขอยอมรับเลยว่า ถ้าแม่ไม่ทำประกันสังคมไว้ ลูกคนนี้คงไม่มีปัญญาหาค่ารักษาพยาบาลเป็นล้านมารักษาแม่แน่ๆ และคงจัดงานศพได้ไม่ดีเท่าที่ควรจากการสูญเสียมันทำให้รู้ว่าสิทธิประโยชน์ตรงนี้ช่วยได้มากจริงๆค่ะ
เพราะฉะนั้น ใครที่ส่งประกันสังคมอยู่พยายามอย่าขาดส่งนะคะ มันเป็นมรดกตกไปถึงลูกหลานได้จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะคนทำงานบริษัทที่ทำประกันสังคมได้ ตัวอย่างของแม่เรา คือ ผู้ประกันตนเองตามมาตรา 39 คนที่ทำฟรีแลนซ์ก็ส่งได้ค่ะ
และที่สำคัญที่เป็นสาเหตุหลักของการตั้งกระทู้จั่วหัวรุนแรงเช่นนี้คือ ระบบราชการไทยยังไม่มีการเชื่อมข้อมูลหากันแบบทุกหน่วยงาน ในกรณีนี้ เราไปแจ้งตายที่เทศบาล แต่ไม่มีข้อมูลส่งมาที่ สำนักงานประกันสังคม เราต้องมาแจ้งเอง ดังนั้นเราเลยคิดว่า สมุมติผู้ทำประกัน มาทำงานใน กทม. มีพ่อแม่แก่ๆ ลูกเล็กๆที่ ตจว. ไม่รู้เรื่องสิทธิ เรื่องกฏหมายมากนัก เกิด ตายไป เงินที่ครอบครัวผู้ตายควรจะได้จะไปอยู่ตรงไหน……..แล้วรัฐเอาไปทำอะไร……. ทางที่ดีเมื่อรู้แล้วว่าตนเองมีสิทธิ์อย่างไร ควรใช้สิทธินั้นอย่างเกิดประโยชน์สูงที่สุดนะคะ
หากข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือขาดตกบกพร่องตรงไหนขออภัยด้วยนะคะ เขียนจากประสบการณ์จริงและจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตัวเองค่ะ
ขอบคุณค่ะ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ