สนข.เบื่อโต้ประเด็นดราม่ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตอบไปก็ไม่จบ แจงราคาค่าตั๋ว เส้นกรุงเทพ-โคราช 500 บาทต่อคน ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. 17 นาที ยัน เจ๊งยาก เมื่อเทียบประวัติการใช้กับระบบขนส่งอื่นๆ ของไทยในอดีต
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ใช้อำนาจ ม.44 เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งในภาควิชาการ และประชาชนทั่วไป หลายประเด็น ทั้งเรื่องการให้สิทธิ์แก่จีนมากเกินไป การถ่ายทอดเทคโนโลยี จนถึงประเด็นที่ระบุว่า รถไฟความเร็วสูง เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะประสบผลขาดทุนจนถึงขั้นเจ๊งแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้ชี้แจงในหลายประเด็น แต่ดูเหมือนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังมีอยู่
แหล่งข่าว นักวิชาการ สนข. ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นเหล่านี้ว่า ประเด็นที่มีการโต้แย้งเรื่องรถไฟความเร็วสูงขณะนี้ บางเรื่องตอบไปยังไงก็ไม่จบ เช่น ประเด็นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีน โดยบางราย ดราม่าถึงขั้น วิจารณ์ว่าไทยทำรถไฟความเร็วสูงเจ๊งไม่เป็นไร ขอให้ได้เทคโนโลยีมา ซึ่งประเด็นนี้อยากถามกลับว่า ถ้าไทยทำรถไฟความเร็วสูงแค่กว่า 200 กิโลเมตร ยังเจ๊ง จะเอาเทคโนโลยีมาทำอะไร เพราะคงทำส่วนต่อขยายไปพื้นที่อื่น ได้ยาก
"เรื่องนี้ลองพิจารณาดูให้ดีว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเครื่องบิน ให้บริการมากี่สิบปี ถามว่าทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยี ผลิต หรือประกอบเครื่องบินเองได้ไหม สิ่งสำคัญคือเมื่อประเทศลงทุนไป ระบบขนส่งนั้นต้องเกิดประโยชน์ คนไทยได้ใช้ สร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การเดินทาง การท่องเที่ยวให้เติบโต"
ส่วนโอกาสที่ระบบขนส่งมวลชน เช่นรถไฟความเร็วสูง จะมีคนใช้บริการมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ ลองนึกตามดู จากข้อมูล สนข.ขณะนี้ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร ค่าโดยสาร จะจัดเก็บกิโลเมตรไม่เกิน 2 บาท คิดเป็นค่าโดยสาร ผู้ใช้ไม่เกินคนละ 500 บาท ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 17 นาที ถามว่า หากเราเดินทางไปโคราชด้วยรถยนต์ปัจจุบัน ค่าน้ำมันเท่าไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่ ในเมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่า ระบบขนส่งแบบนี้ จะเจ๊งได้อย่างไร
"ระบบขนส่งหนึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการใช้ของคนไทย ลองนึกดู เมื่อก่อน สายการบินต้นทุนต่ำ ใครก็บอกเจ๊ง เพราะบริการเครื่องบินโดยสารเป็นของคนรวย ใครจะมีเงินมาใช้บริการ แต่จนถึงปัจจุบัน คนใช้โลว์คอสต์แอร์ไลน์เติบโตต่อปีแค่ไหน มองให้ใกล้เข้ามาอีก ตอนทำรถไฟฟ้าบีทีเอส ใครก็บอกเจ๊งแน่ ยิ่งช่วงแรกที่คนใช้น้อย ตอนทำรถไฟใต้ดิน นักวิชาการบางคนบอก กรุงเทพฯมีสภาพดินอ่อน ทำไม่ได้ ทำไปคนก็ไม่กล้าใช้ ตอนนี้ผ่านมากว่า 10 ปี ระบบขนส่งทั้ง 2 นี้ ให้บริการเติบโตจนคนใช้แน่นขนาดไหน" นักวิชาการ สนข.กล่าว
นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างรถไฟความเร็วสูงไต้หวันที่ล้มละลาย อยากถามว่า รถไฟความเร็วสูงเจ๊งแล้ว ประเทศเจ๊งไหม ระบบขนส่งมวลชนบางอย่างในหลายประเทศ รัฐบาลก็ชดเชยผลขาดทุนต่อปี ให้ระบบขนส่งมวลชนนั้น เพื่อให้ประชาชน ได้ใช้ระบบขนส่งที่มีคุณภาพ ลองนึกถึงผลตอบแทนคุณค่าทางสังคม ที่จะได้รับ เช่น คนที่เคยต้องฝากลูกให้พ่อแม่ที่อยู่ที่โคราชเลี้ยง และตัวเองต้องมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ในอนาคต ไม่ต้องพูดว่า จะสามารถอยู่ที่โคราช แล้วเดินทางไปกลับโดยรถไฟความเร็วสูงทุกวัน เพราะค่าโดยสารก็ไม่ได้ถูกขนาดนั้น แต่อย่างน้อยทำให้เขา กลับไปหาลูกได้บ่อยขึ้น และไม่ต้องเสี่ยงชีวิตต่อการใช้รถใช้ถนน เดินทางนานๆ เพราะยังเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สถิติอุบัติเหตุยังสูงอยู่
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ