เปิด 5 รพ. หลังหักเงินเดือนบุคลากรออกจากงบรายหัวบัตรทอง “ติดลบ” กระจาย ไม่เหลือเงินบริการประชาชน เผย รพ.สิงห์บุรี ติดลบสูงสุดถึง 13 ล้านบาท รพ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ติดลบเกือบ 4 ล้านบาท สธ. ชี้ เป็นเหตุผลต้องแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่าย เพื่อความเป็นธรรม
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการชี้แจงรายละเอียดงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองผ่านหน้าเว็บไซต์ สธ. ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กลุ่มประกันสุขภาพจัดทำรายละเอียดงบเหมาจ่ายรายหัวของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ว่า แต่ละแห่งได้รับงบประมาณจำนวนเท่าไร และเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรแล้วเหลือเท่าไรที่จะเอามาใช้บริการประชาชน ซึ่งพบว่ามีหลายแห่ง เมื่อหักเงินเดือนบุคลากรแล้วติดลบอยู่จำนวนมาก ยกตัวอย่าง ปี 2559 โรงพยาบาลเกาะพีพี จ.กระบี่ หากพิจารณาตัวเลขงบเหมาจ่ายรายหัวประมาณ 3,100 บาทต่อประชากร จะได้อยู่ประมาณ 1.7 ล้านบาท เมื่อหักเงินเดือนบุคลากรแล้วจะเหลือเงินใน รพ. เพียง 54,209 บาทต่อประชากรทั้งหมด 1,421 คน ซึ่งแทบจะไม่เหลือเลยในการนำมาบริหารจัดการและบริการประชาชน
“นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องแยกเงินเดือน เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา รพ. ที่อยู่พื้นที่ห่างไกล รพ. ที่มีจำนวนประชากรน้อย ต้องแบกรับปัญหาเหล่านี้ สุดท้ายก็จะส่งผลต่อประชาชนได้ หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไข สิ่งเหล่านี้ต้องถามว่า มีความเป็นธรรมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จะมีการสรุปตัวเลขทั้งหมดขึ้นเว็บไซต์ใน 1 – 2 วันนี้ เพื่อให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของ รพ. สังกัด สธ.” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ในส่วนของการใช้งบประมาณของคนไทยรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ รวมถึงแรงงานต่างด้าวในเรื่องของสิทธิสุขภาพ ได้มอบให้ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. ไปจัดทำรายละเอียดการใช้งบในกองทุนคืนสิทธิการรักษาพยาบาลกลุ่มคนไร้สถานะ (กองทุนคืนสิทธิ) ว่า มีค่าใช้จ่ายต่อหัวประชากรเป็นเท่าไรอย่างไร ซึ่งจะมีการขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนทราบด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มอบหมายให้ สธ. ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว แต่ยังแจ้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการแจ้งรายละเอียดการใช้งบบัตรทองขึ้นเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลที่จะเปิดเผยในเว็บไซต์ สธ. พบว่า เมื่อได้รับงบเหมาจ่ายรายหัว และมีการรวมเงินเดือนอยู่ด้วยนั้น เมื่อหักเงินออกมาจะพบว่า เบื้องต้นมี 4 แห่งติดลบ คือ 1. รพ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ได้รับเงินรวมทั้งหมดประมาณ 17 ล้านบาทต่อประชากร 10,686 คน เมื่อหักเงินเดือนติดลบกว่า 3,952,884 บาท 2. รพ.สิงห์บุรี ได้รับเงิน 128 ล้านบาทต่อประชากร 44,297 คน เมื่อหักเงินเดือนติดลบกว่า 13,477,794 บาท 3. รพ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ได้รับงบกว่า 21 ล้านบาทต่อประชากร 13,890 คน เมื่อหักเงินเดือนติดลบกว่า 1,472,028 บาท และ 4. รพ.บางไทร จ.พังงา ได้รับงบประมาณกว่า 11 ล้านบาท ต่อประชากร 13,890 คน เมื่อหักเงินเดือนติดลบที่ 142,059 บาท
ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ