กระทรวงการคลังเพิ่มเบี้ยชราอีกคนละ100-200/เดือน-หั่นวงเงินช่วยผู้มีรายได้น้อยเหลือ4.6หมื่นล้าน





 

คลังแจงแจกเงินคนชราได้อีกคนละ 100–200 บาทต่อเดือน ยันภาษีบาปที่เพิ่มขึ้น 2% ไม่กระทบคอทองแดงและสิงห์อมควัน ขณะที่มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ถูกหั่นงบเหลือ 46,000 ล้านบาท “อภิศักดิ์” มั่นใจอุ้มได้หมดทุกคน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอหลักเกณฑ์และแนวทางการมอบสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ขณะที่ความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบ ประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณปรับลดวงเงินของกองทุนฯ ลงจาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 46,000 ล้านบาท แต่ไม่น่ามีปัญหาและคาดว่า วงเงินดังกล่าวจะดูแลสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยได้

ส่วนเรื่องกองทุนผู้สูงอายุที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามกระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุฉบับที่…พ.ศ. …โดยมีสาระสำคัญให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เรียกว่าภาษีบาป อันเกี่ยวข้องกับสุราและยาสูบ เพิ่มขึ้นอีก 2% เพื่อจัดสรรเงินสมทบกองทุนผู้สูงอายุ วงเงิน 4,000 ล้านบาทนั้น เป็นแนวทางเพื่อให้กองทุนผู้สูงอายุมีเงินเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้รับงบประมาณจำกัด ทั้งนี้ คาดว่า เมื่อรวมกับรายได้ที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ดีและยอดเสียสละไม่รับเบี้ยผู้สูงอายุ คาดว่า จะมีวงเงินเพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

ส่วนเรื่องการมอบรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นนั้น เนื่องจากปัจจุบันกองทุนหมุนเวียนในไทยมี 116 กองทุน มีเงินหมุนเวียนรวมประมาณ 3.7-3.8 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีวงเงินปีละ 2.9 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ติดขัดในระเบียบราชการ ทำให้มีความคล่องตัวในการจัดสรรวงเงินลงไปช่วยเหลือ ภาคส่วนต่างๆได้อย่างรวดเร็วและตรงเป้าหมายเช่น เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย หรือพัฒนาด้านการศึกษา การวิจัย และการคมนาคม ซึ่งได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกองทุนหมุนเวียนทุกแห่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุน

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.กองทุนหมุนเวียนฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ หลังผ่านความเห็นชอบจาก สนช.มีวัตถุประสงค์หลักคือ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของแต่ละกองทุน และหากกองทุนใดใช้เงินไม่หมดจะต้องส่งเงินคืนให้กับกระทรวงการคลัง ไม่ใช่การนำเงินไปฝากไว้ในสถาบันการเงินเพื่อรับอัตราดอกเบี้ย ส่วนการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนใหม่ กฎหมายได้เขียนไว้ว่า จะต้องมีการพิจารณาโดยคณะกรรมการทุนหมุนเวียนโดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและจำเป็นไม่ใช่หน่วยงานใดจะจัดตั้งขึ้นมาก็ได้ เพื่อไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า อัตราภาษีใหม่ที่จะจัดเก็บจากสุราและยาสูบนั้น ขอยืนยันว่า จะไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะอัตราภาษีที่เก็บเพิ่มจะเก็บจากเนื้อภาษี หรือเม็ดเงินภาษี เช่น ภาษีบุหรี่จัดเก็บรายได้ 1,000 ล้านบาท เก็บภาษีเพิ่ม 2% หรือคิดเป็นเงิน 20 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ โดยคาดว่า จะมีเม็ดเงินจากภาษีบาปปีละ 4,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ ดังกล่าวมีการจัดตั้งแล้ว โดยมีเงินกองทุนฯ สะสม 400 ล้านบาท ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็นำเงินจากภาษีบาปเข้ากองทุนฯ ได้ทันที

“สศค.ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะจ่ายเงินให้แก่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นคนละเท่าไหร่ ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลการลงทะเบียนในโครงการขอรับสวัสดิการของรัฐ พบว่าคนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี ในจำนวนนี้มีประชาชนอายุเกิน 60 ปี จำนวน 4 ล้านคน แยกออกเป็นรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ประมาณ 3 ล้านคน ส่วนอีก 1 ล้านคน มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งหากตัวเลขสมมติฐานเป็นเช่นนี้ คาดว่า ผู้สูงอายุได้รับเงินเพิ่มอีกคนละ 100-200 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันได้รับคนละ 600-700 บาทต่อเดือน”

ส่วนเรื่องการสละสิทธิ์ของประชาชนที่สูงอายุที่ไม่ต้องการรับสวัสดิการจากรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ผลตอบแทน ซึ่งอาจเป็นเหรียญเชิดชูเกียรติ หรืออื่นๆ ก็ได้ แต่ยังไม่มีข้อสรุป ส่วนเรื่องการสละสิทธิ์สวัสดิการของผู้สูงอายุ ล่าสุด ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเนื่องจากกฎหมายเปิดโอกาสให้ ผู้สูงอายุสามารถสละสิทธิ์ได้ และผู้สละสิทธิ์สามารถนำเงินไปมอบให้องค์กรการกุศล หรืออื่นๆได้ ซึ่ง สศค.คาดว่า หากมีผู้สูงอายุสละสิทธิ์ 100,000 คน จะมีเงินสมทบกองทุน 800 ล้านบาทต่อปี หากเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 คน จะมีเงินสมทบ 2,400 ล้านบาทต่อปี หากมียอดเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คน จะมีเงินสมทบ 4,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีจำนวน 1 ล้านคน จะมีเงินสมทบ 8,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งคาดว่า จะมีผู้สูงอายุสละสิทธิ์ประมาณ 500,000 คน มีเงินสมทบปีละ 4,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่คาดว่า จะสมทบเข้ากองทุนฯ ได้ 8,000 ล้านบาท

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: