ครม.อนุมัติ! ยกเลิกเงินเดือนครูแบบ2ขั้น เปลี่ยนกติกาขึ้นเงินเดือน ให้ปรับขึ้นตามผลงาน!





 

เปลี่ยนกติกาขึ้นเงินเดือนครู ครม.ไฟเขียวศธ.ยกร่างกฎก.ค.ศ.ใหม่ยกเลิก 2 ขั้น ให้ปรับขึ้นตามผลงาน บุคคลได้ร้อยละ 6 ในแต่ละรอบการประเมิน วงเงินรวมได้ภายในวงเงินร้อยละ 3 ไม่ขึ้นเงินเดือนให้คนที่มีคดีอาญาและถูกสอบวินัยร้ายแรง

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระของร่างดังกล่าวเพื่อเป็นการกำหนดให้ยกเลิกกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2550, กำหนดวงเงินงบประมาณและการบริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ได้แก่ กำหนดให้ส่วนราชการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในสังกัด ครั้งที่ 1 (1 เม.ย.) และครั้งที่ 2 (1 ต.ค.) ภายในวงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ วันที่ 1 มี.ค. และ 1 ก.ย. ตามลำดับ และ กำหนดให้ส่วนราชการบริหารวงเงินในการเลื่อนเงินเดือนในภาพรวมของส่วนราชการหรือเขตพื้นที่การศึกษา

กำหนดการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เลื่อนตาม ผลงาน คือ ผู้ได้รับเงินเดือนในอัตราเดียวกัน มีผลงานเท่ากัน ควรได้รับเงินเดือนเป็นมูลค่าที่เท่ากัน และผู้ได้รับเงินเดือนในต่างอันดับกัน หรือมีผลงานต่างกัน ควรได้รับการเลื่อนเงินเดือนเป็นมูลค่าที่ต่างกัน

กำหนดกรอบวงเงินในการเลื่อนเงินเดือนรายบุคคลไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณและช่วงเงินเดือนสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละอันดับของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และยกเลิกโควตา 2 ขั้น ร้อยละ 15 ของจำนวนคน

กำหนดให้ส่วนราชการหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลื่อนเงินเดือนในอัตราร้อยละที่แตกต่างกันตามคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงาน ภายในกรอบวงเงินรวมร้อยละ 3 และกรอบวงเงินรายบุคคลร้อยละ 6 ในแต่ละรอบการประเมิน โดยจะใช้วิธีการเฉลี่ยให้ข้าราชการแต่ละคนได้รับการเลื่อนเงินเดือนในอัตราที่เท่ากันไม่ได้

กำหนดการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานดังนี้ กำหนดให้เลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละของฐานในการคำนวณที่กำหนดไว้ตามช่วงเงินเดือนในแต่ละอันดับเงินเดือน, กำหนดให้เลื่อนเงินเดือนข้าราชการแต่ละคนเป็นร้อยละเท่าใดจะต้องสอดคล้องกับคะแนนผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการผู้นั้น, กำหนดให้ผู้ใดได้รับเงินเดือนขั้นสูงของอันดับเงินเดือนที่ดำรงอยู่ให้ผู้นั้นได้รับค่าตอบแทนพิเศษ โดยเงินค่าตอบแทนพิเศษคิดเป็นร้อยละของฐานในการคำนวณที่กำหนดไว้ตามช่วงเงินเดือนและไม่นำมารวมเป็นเงินเดือนพื้นฐาน

ยกเลิกหลักการรอการเลื่อนขั้นเงินเดือน กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกฟ้องคดีอาญาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการและศาลได้ประทับรับฟ้องไว้แล้ว หรือถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง

กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขและกรณี อื่นๆ ดังนี้ กำหนดให้ผู้จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนต้องมีเวลาปฏิบัติราชการ ไม่น้อยกว่า 4 เดือน ในแต่ละรอบการประเมิน, กำหนดให้เลื่อนเงินเดือนให้แก่ผู้ ได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ หรือได้รับอนุญาตให้ลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ เนื่องจากราชการเป็นเหตุเมื่อผู้นั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้สั่งเลื่อนเงินเดือนได้ไม่เกินร้อยละสาม ของฐานเงินเดือนข้าราชการผู้นั้นในแต่ละรอบการประเมิน, กรณีข้าราชการเสียชีวิต ในระหว่างรอบการประเมิน และปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 4 เดือน ให้ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนตามผลการปฏิบัติงาน

ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รักษาราชการเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษาใน 1 ปีงบประมาณจะขึ้นทั้งหมด 2 รอบ รอบที่ 1 วันที่ 1 เม.ย. และรอบที่ 2 วันที่ 1 ต.ค.ของทุกปี แต่เนื่องจากการขึ้นเงินเดือนผูกพัน กับปีงบประมาณ ดังนั้นเมื่อร่างกฎ ก.ค.ศ.ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว จึงมีบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเข้าสู่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป

นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการปรับเงินเดือนในวันที่ 1 เม.ย. 61 หรือรอบที่ 1 นั่นเอง และตลอดปีงบประมาณจะได้รับการปรับเลื่อนไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในที่นี้จะพิจารณาปรับเลื่อนมากน้อยจากการประเมินผลงานเฉพาะบุคคลด้วย เช่น ผลงานดีมากได้ปรับเลื่อน 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือที่อยู่ในวิทยาลัยต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั่วประเทศ จะได้รับปรับเลื่อนเงินเดือนเป็นขั้น ขณะที่ข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ เช่น สพฐ.หรือสอศ. ที่อยู่ในส่วนกลาง จะใช้วิธีเลื่อนเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นร่างกฎ ก.ค.ศ.นี้จึงช่วยให้การปรับเลื่อนเงินเดือนเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ข่าวจาก : ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: