เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 8 มกราคม ที่ห้องรับรองรัฐมนตรี ชั้น 6 กระทรวงแรงงาน น.ส.สุรินทร์ พิมพา ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้ยื่นหนังสือ เรื่อง ขอให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดทางเจ้าหน้าที่แรงงาน จ.สมุทรสาคร ให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างลูกจ้างต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยระบุว่า ตามที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากบริษัทเอส พี เค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ตั้งอยู่ที่ 20/2 ม.9 ซ.นวลทอง ถ.เศรษฐกิจ 1 ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งผลิตโต๊ะ ตู้ และพลาสติกทุกชนิดมากว่า 40 ปี ปัจจุบันมีพนักงานรวม 71 คน อายุการทำงานแต่ละคนเฉลี่ย 10-20 ปี โดยเป็นพนักงานรายวันและรายเดือน ได้รับข้อร้องเรียนดังนี้ 1.ปัญหาความเดือดร้อนไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยนายจ้างจ่ายค่าจ้างเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 จากนั้นไม่ได้รับค่าจ้างอีก เมื่อสอบถามไปยังฝ่ายบุคคล ด้านนายจ้างอ้างว่า ไม่มีเงิน แต่ยังให้ลูกจ้างเข้าทำงานตามปกติทุกวัน โดยไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ ขณะที่บริษัททยอยขายเครื่องจักรและชิ้นงานที่ประกอบแล้วเสร็จ โดยบอกว่าจะนำเงินจากการขายสินค้าดังกล่าวมาจ่ายลูกจ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้จ่ายเงินแก่ลูกจ้าง ทำให้บางส่วนทยอยลาออก โดยก่อนหน้านี้ลูกจ้าง 40 คนเคยไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาคร แล้ว และทางบริษัทได้จ่ายค่าจ้างเพียง 1 งวดตามข้างต้น
น.ส.สุรินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงค้างค่าจ้างอีก 3 งวด ปกตินายจ้างแบ่งจ่ายทุก 15 วัน แบ่งเป็นงวดวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2560 งวดวันที่ 1-15 ธันวาคม 2560 งวดวันที่ 16-30 ธันวาคม 2560 และคาดว่าจะค้างค่าจ้างในงวดต่อไปคือ งวดวันที่ 1-16 มกราคม 2561 โดยมีพนักงานได้รับผลกระทบทั้งสิ้นรวม 53 คน ประกอบด้วย พนักงานรายเดือน 3 ราย และรายวัน 50 ราย ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยเขียนแบบร้องทุกข์ (คร.7) และเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาคร ได้มีหนังสือถึงบริษัทฯแล้ว แต่การจ่ายเงินยังคงล่าช้ามากว่าระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดได้ให้ลูกจ้างเข้าเขียนคำร้อง คร.7 อีกครั้งในวันที่ 8 มกราคมนี้
“ปัจจุบันลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการค้างค่าจ้าง เช่น ไม่มีเงินชำระค่าเทอมกับทางโรงเรียน ค้างค่าเช่าบ้าน และหยิบยืมเงินจากญาติพี่น้อง ยังมีการไปเซ็นของตามร้านค้า และเมื่อบอกว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทเอส พี เคฯ กลับไม่ให้เซ็นของเพราะกลัวไม่มีเงินจ่าย” น.ส.สุรินทร์กล่าว
ด้านนางวาสนา นาคนวน ลูกจ้างบริษัทเอส พี เคฯ อายุ 43 ปี กล่าวว่า ได้เริ่มทำงานที่บริษัทฯมากว่า 14 ปี เป็นคนต่างจังหวัด ปัจจุบันได้หย่าร้างกับสามีแล้ว และมีลูกด้วยกัน 1 คนวัย 22 ปี ได้รับความเดือดร้อนมากจากนายจ้างค้างค่าจ้าง ทั้งด้านความเป็นอยู่และค่าเช่าบ้านที่ค้างจ่ายอยู่ 3 เดือน ปัจจุบันมีหนี้สินจากการหยิบยืมจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับนางประทีป ป้อมทอง อายุ 57 ปี ที่ทำงานกับบริษัทฯมากว่า 17 ปีแล้ว กล่าวทั้งน้ำตาว่า ทางบริษัทฯเคยให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (โอที) และมีค่าจ้างให้ ต่อมาเมื่อปี 2554-2555 พบว่าทางบริษัทฯเริ่มมีปัญหาจากการปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท ก่อนในปี 2559 เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จ่ายค่าจ้างล่าช้า กระทั่งค้างค่าจ้างหลายงวด ทำให้ตนไม่มีเงินค่าเทอมลูก ลูกอยากเรียนต่อสูงๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะไปหางานอื่นทำก็ลำบากเพราะอายุเยอะแล้ว ประกอบกับทางบริษัทฯก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะเลิกจ้างพนักงาน ปิดบริษัท หรือจะทำอย่างไร ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำที่ตนได้รับเพียงวันละ 310 บาทเท่านั้น
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ