เมื่อวันที่ 10 มกราคม ผู้สื่อข่าว จ.สงขลา รายงานว่า ชาวสงขลากำลังจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียม ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2551 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553 ในวงเงินประมาณ 800 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ปี 2561 หรือเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว การดำเนินการโครงการกลับยังไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งยังมีรายงานใช้งบประมาณไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท เริ่มสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 โครงการก่อสร้างแบ่งเป็น 5 ระยะ กลับถูกทิ้งร้างมานาน กลายเป็นซากก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดสงขลาอย่างมาก ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการให้เป็น "แลนด์มาร์ก" และเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของ จ.สงขลา
นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานเครือข่ายผู้ปกครองวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายก็มองโครงการนี้มานาน และมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นภาพลักษณ์ของ จ.สงขลา และมองว่าเป็นผลเสียต่อรัฐบาลเอง เพราะจนถึงขณะนี้คนในพื้นที่ยังไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดการก่อสร้างจึงไม่เสร็จ ติดปัญหาตรงไหน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เตรียมที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้เร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ส่วนในประเด็นการใช้งบประมาณที่บานปลายออกไป หรือ มีปัญหาด้านใดนั้น ควรที่จะมีการชี้แจงให้สังคมรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อความโปร่งใส
สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ณ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา มีพื้นที่โครงการกว่า 7,800 ตารางเมตร โครงการแบ่งการดำเนินการเป็น 5 ระยะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอดำเนินการ ในระยะที่ 4 และระยะที่ 5 โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา เป็นการนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ทะเลสาบสงขลา มาปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมในส่วนของงานศึกษาค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของวิทยาลัยประมงติณ สูลานนท์ ให้เป็นสถานที่ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาของสัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ และการเพาะขยายพันธุ์ ของคณาจารย์และนักศึกษา รวมทั้งสนับสนุน ร่วมมือ อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการ วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์น้ำ และความเป็นอยู่ ชีววิทยา และระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา ตลอดจนจะเป็นแหล่งทัศนศึกษาของชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางมายังจังหวัดสงขลา
ล่าสุด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ จะสะสางเรื่องทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีการบริหารจัดการกันในอดีต โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์
นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 นพ.ธีระเกียรติได้ลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ตรวจเยี่ยมเพื่อแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา พบว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสนอของบประมาณ ประจำปี 2561 จำนวนกว่า 286 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างเพิ่มเติม พร้อมทั้งหารือเพื่อหาผู้เข้ามารับหน้าที่ใน การบริหารจัดการอควาเรียมดังกล่าว เนื่องจากทราบว่าในการประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้จะมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ยังได้เสนอของบประมาณ ประจำปี 2561 จำนวนกว่า 286 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างเพิ่มเติม พร้อมทั้งหารือเพื่อหาผู้เข้ามารับหน้าที่ในการบริหารจัดการอควาเรียมดังกล่าว แต่ รมว.ศึกษาธิการได้สั่งระงับ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ขณะนั้น ได้ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการ เดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ หมู่ 2 ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา เบื้องต้นใช้งบประมาณก้อนแรกรวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท เป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง และยังกล่าวว่า สถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่นี่จะใหญ่กว่าดีกว่าและสวยกว่าที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นรูปหอยสังข์ ได้เริ่มโครงการก่อสร้างแล้ว จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้
ข่าวจาก: มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ