เมื่อวันที่ 17 มกราคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง ขอให้ทุกฝ่ายเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานระหว่าง บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับสหภาพแรงงาน ระบุว่า ตามที่สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ซึ่งประเด็นการยื่นข้อเรียกร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากการทำงานในระหว่างปี และเรื่องปรับปรุงสวัสดิการที่จำเป็น และได้มีการเจรจากันหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 บริษัทตอบโต้กลับด้วยการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานในประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับเงินค่าจ้างประจำปี และโครงสร้างในระดับตำแหน่งงานต่างๆ การจัดเวลาเข้าทำงานใหม่ (กะ) และขอยกเลิกหักเงินค่าบำรุงของสมาชิกให้แก่สหภาพแรงงาน ซึ่งข้อเรียกร้องของนายจ้างสหภาพแรงงานและสมาชิกเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนที่ไม่เป็นคุณ ไม่สามารถยอมรับได้ การเจรจายืดเยื้อหาข้อยุติไม่ได้จนเกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่างกัน ซึ่งต่อมาได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และในวันเดียวกันบริษัทได้ประกาศปิดงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการใดๆให้แก่สมาชิกของสหภาพแรงงานและผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเรื่องที่สะเทือนต่อความรู้สึกของสหภาพแรงงานและสมาชิกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการปิดงานในการเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
แถลงการณ์ระบุว่า จนถึงขณะนี้ คนงานยังคงปักหลักประชุมร่วมกันในบริเวณวัดมาบสามเกลียว ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี เพื่อรอผลการเจรจาระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ คสรท.ได้ลงพื้นที่พบปัญหาข้อมูลหลายด้านที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคนงาน การจ้างงานนักศึกษาฝึกงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน แต่สหภาพแรงงานและสมาชิกไม่มีแนวคิดและความประสงค์นัดหยุดงาน ทุกคนต้องการที่จะทำงานให้บริษัท และมุ่งหวังให้ข้อเรียกร้องและข้อพิพาทแรงงานยุติลงบนความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย คสรท. องค์กรสมาชิก และเครือข่ายด้านแรงงานจึงเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ พยายามให้เกิดการเจรจาภายใต้ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีตามหลักการทางสากล หลักนิติธรรม และหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 74 และยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย และเพื่อแสดงออกถึงความจริงใจและสร้างบรรยากาศในการเจรจา บริษัทควรยกเลิกการประกาศปิดงานและให้สหภาพแรงงาน สมาชิก และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องกลับเข้าไปทำงานก่อน
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ