นักวิชาการชี้ ต่างด้าวขายแรงในไทยมีอาชีพต้องห้ามชัดตาม พ.ร.บ. ฝ่าฝืนมีโทษ!! เหตุที่ต่างด้าวเข้าไทยเยอะเป็นไปได้จากค่าแรงที่จูงใจ





 

นักวิชาการ ย้ำ แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยมีข้อกำหนดชัดให้ทำงานได้เฉพาะอาชีพที่อนุญาต ชี้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจูงใจแรงงานต่างด้าวเข้าไทย

20 ม.ค.61 รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า หลังจากบอร์ดค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ทั่วประเทศ อีก 5-22 บาทต่อวัน ทำให้อัตราค่าจ้างใหม่อยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน อาจมีผลให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น และส่วนตัวก็อยากให้เข้ามาทำงาน แต่ต้องดูด้วยว่าค่าแรงที่คนต่างด้าวได้รับสูงเพียงพอที่จะจูงใจให้จากครอบครัวเพื่อเดินทางเข้ามาทำงานในไทยหรือไม่ รวมทั้งขั้นตอนการขอเข้ามาทำงานในไทย

ต่อคำถามที่ว่าถ้าคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มมากขึ้นจะเกิดการแย่งงานกับคนไทยหรือไม่ รศ.แล มองว่า ไม่เกิดการแย่งงานกันทำกับคนไทยแน่นอน เนื่องจากคนไทยไม่ทำงานในอัตราแรงงานเดียวกับคนต่างด้าว เพราะมีอำนาจในการต่อรองที่มากกว่า ขณะที่งานหนักๆ คนไทยก็ไม่ทำ เช่น งานประมง งานก่อสร้าง และแรงงานหนัก

ส่วนประเด็นที่กำลังเกิดข้อถกเถียงกันในโลกออนไลน์ว่า การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวในไทย ได้เข้ามาทำงานในส่วนของอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ตามการกำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ซึ่งประกอบด้วย 39 อาชีพ เช่น การขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเข้าข่ายอาชีพห้ามคนต่างด้าวทำ  คือ งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ รศ.แล กล่าวว่า ตามระเบียบการให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานจะให้เข้ามาทำงานในอาชีพที่ขออนุญาตเท่านั้น ส่วนการขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างถือเป็นความผิดของตัวแรงงานเอง ซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งได้กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 จำนวน 39 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หากพบคนต่างด้าวทำงานผิดประเภทจะมีโทษสำหรับนายจ้างคือปรับระหว่าง 10,000 -100,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 1 คน โทษสำหรับแรงงานต่างด้าวคือจำคุก 5 ปี ปรับระหว่าง 2,000 – 100,000 บาท ทั้งนี้หากแรงงานต่างด้าวยินยอมกลับประเทศต้นทาง จะถูกนำส่งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการส่งกลับ โดยได้รับการละเว้นโทษจำคุก

สำหรับตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ได้กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 จำนวน 39 งาน คือ 1.กรรมกร ยกเว้นกรรมกรในเรือประมง แต่ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลชาติอื่น และคนต่างด้าวที่ได้รับการกำหนดสถานะให้เป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 2.กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ หรือประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา ควบคุมดูแลฟาร์มหรืองานกรรมกร ในเรือประมงทางทะเล 3.ก่ออิฐ ช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น 4.แกะสลักไม้ 5.ขับขี่ยานยนต์ หรืองขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ 6.ขายของหน้าร้าน 7.ขายทอดตลาด 8.ควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว 9.เจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย 10.ตัดผม ดัดผม เสริมสวย 11.ทอผ้าด้วยมือ 12.ทอเสื่อ 13.ทำกระดาษสาด้วยมือ 14.ทำเครื่องเขิน

15.ทำเครื่องดนตรีไทย 16.ทำเครื่องถม 17.ทำเครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องนาก 18.ทำเครื่องลงหิน 19.ทำตุ๊กตาไทย 20.ทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 21.ทำบาตร 22.ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ 23.ทำพระพุทธรูป 24.ทำมีด 25.ทำร่มกระดาษหรือผ้า 26.ทำรองเท้า 27.ทำหมวก 28.นายหน้าหรือตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรือตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 29.งานในวิชาชีพวิศวกรรม ไม่รวมงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ 30.งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรม 31.ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 32.ปั้นและทำเครื่องปั้นดินเผา 33.มวนบุหรี่ด้วยมือ 34.มัคคุเทศก์หรือจัดนำเที่ยว 35.เร่ขายสินค้า 36.เรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 37.สาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ 38.เสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ 39.ให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้น งานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการและงานว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ

ข่าวจาก : PPTV36

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: