ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย กรณีการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดข้อพิพาทจนหลายครั้งเป็นคดีความตามที่มีข่าวมาตลอด แต่หลายครั้งก็มีการเจรจาจนสามารถตกลงกันได้ผ่านการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็นเสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บจากการบริการสาธารณสุข ซึ่งจะครอบคลุมให้แก่ผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือผู้ป่วยบัตรทอง 48 ล้านคน ยกเว้นสิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่ล่าสุดปรากฏว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน เหลือเพียงสิทธิข้าราชการกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ยังไม่มี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มกราคม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า แม้ปัญหาคดีการฟ้องแพทย์จะเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยยังไม่ได้เพิ่มมาก เนื่องจากมองว่ามีมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งมีมาตรการในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยและญาติ โดยเพดานสูงสุดอยู่ที่ 400,000 บาทในกรณีเสียชีวิต ซึ่งเงินนี้จะได้รับอย่างรวดเร็ว ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยและญาติได้ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ติดใจที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ กลับไม่มีการช่วยเหลือลักษณะนี้ในสิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สนช.ได้ผลักดันในการแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2558 มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน โดยแก้ไขในมาตรา 53 ให้เป็นค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย จากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสํานักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว ให้สํานักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทําผิดได้
“ผ่านมาเกือบ 3 ปี ในที่สุด นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ ประกันสังคม ได้ลงนามในประกาศหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยใช้อัตราเดียวกับมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.บัตรทอง ซึ่งต้องดีใจกับผู้ประกันตน 13 ล้านคนที่จะได้สิทธิเท่าเทียมกับผู้ป่วยบัตรทองเสียที ดังนั้น ขณะนี้จึงเหลือเพียงสิทธิข้าราชการที่มีเพียง 5 ล้านคนเท่านั้นที่ยังไม่มีสิทธิตรงนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มี พ.ร.บ.ของตนเอง แต่เป็นเพียงพระราชกฤษฎีกา ซึ่งดูแลเงินกองทุนถึง 6 หมื่นล้านบาท จริงๆ ก็ควรต้องมีสิทธิตรงนี้ด้วย เพราะการออกสิทธิดังกล่าวไม่ได้ยาก และไม่ได้ใช้เงินมากมาย เพราะขนาดบัตรทองใช้เงินตามมาตรา 41 เพียง 200 ล้านบาท ประกันสังคมคนน้อยกว่าก็น่าจะใช้เงินไม่เยอะ ขณะที่ข้าราชการคนน้อยกว่าอีกก็น่าจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งทาง สนช.จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลเรื่องนี้ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป” นพ.เจตน์กล่าว
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เห็นชอบกรรมการการแพทย์ในเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่ง นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ได้บังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ผู้ป่วยประกันสังคมที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ในช่วงเวลาดังกล่าว และยังไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นใดๆ จะสามารถใช้สิทธิตามประกาศนี้ได้ เรียกว่ามีผลย้อนหลังให้นั่นเอง โดยหลักเกณฑ์จะใช้ยึดตามมาตรา 41ของบัตรทอง เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น โดยอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีเสียชีวิตตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท สูญเสียอวัยวะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ