นอนหลับแล้วฝัน&นอนหลับโดยไม่ฝัน แบบไหนดีกว่า?





วัฒนธรรมของคนเราไม่ว่าจะอยู่เชื้อชาติใดหรือใช้ภาษาไหน ก็มักจะมีคำอวยพรก่อนลาจากกันในตอนกลางคืนที่เกี่ยวกับการนอนหลับและการฝันว่า “นอนหลับฝันดี” “sweet dreams” หรือ “良い夢を。” เป็นต้น แต่ก็อาจจะมีคำกล่าวที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า การนอนหลับที่ดีและหลับสนิท คือการหลับโดยที่ไม่ฝัน เช่นนี้แล้ว การนอนหลับแบบไหนเป็นการนอนหลับที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเรากันแน่ วันนี้มีคำตอบมาบอกกันครับ
ปกติแล้วมนุษย์เรา เมื่อนอนหลับ จะมีระดับความลึกของการนอนหลับอยู่หลายระดับ จากการศึกษาทางสรีรวิทยาแบ่งระดับความลึกของการนอนหลับออกเป็น 4 ระดับโดยอาศัยลักษณะการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองและการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายเป็นตัวช่วย ได้แก่

[ads]

การนอนหลับระยะที่ 1 และ 2 (stage 1 and 2 sleep) สำหรับระยะที่ 1 เป็นระดับตื้นที่สุดของการนอนหลับ แตกต่างไปจากการนอนหลับตาเฉย ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในช่วงนี้คลื่นสมองจะมีความแรงของกระแสไฟฟ้าลดลงกว่าในตอนตื่นอยู่เล็กน้อย กล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกายก็ยังคงมีความตึงตัวในระดับใกล้เคียงกับตอนตื่น ส่วนการนอนหลับในระยะที่ 2 นั้นการนอนหลับเริ่มลึกขึ้นกว่าเดิม คลื่นสมองเริ่มช้าลง กล้ามเนื้อต่าง ๆ มีความตึงตัวลดลงกว่าในตอนแรก การนอนหลับในระยะที่ 1 และ 2 นี้หากถูกปลุกก็จะตื่นได้ง่ายและมีกิจกรรมต่าง ๆ ของสมองกลับมาเหมือนตอนตื่นได้เร็ว

การนอนหลับลึก (slow-wave sleep) การนอนหลับระดับนี้เป็นการนอนหลับในระดับที่ลึก คลื่นสมองที่ตรวจได้ในระยะนี้จะเป็นคลื่นสมองที่ช้า มีความถี่น้อย กล้ามเนื้อมีความตึงตัวน้อย หากถูกปลุกให้ตื่นในระยะนี้จะตื่นได้ยากกว่า และมีช่วงเวลาที่งัวเงียครึ่งหลับครึ่งตื่นก่อนจะกลับมาสู่ระดับเหมือนตอนตื่นได้

การนอนหลับและฝัน ในระยะนี้ในทางสรีรวิทยาเรียกว่า rapid-eye-movement (REM) sleep เนื่องจากในระยะนี้จะตรวจพบคลื่นสมองจะเปลี่ยนกลับมาคล้ายกับช่วงที่ตื่น และมีการคลื่นไหวของลูกตาอย่างรวดเร็วเหมือนตอนกำลังดูหนังแอคชั่น แต่กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ตึงตัวอยู่กลับคลายตัวออกทั้งหมด อวัยวะภายในต่าง ๆ ก็จะทำงานช้าลงทั้งหมดด้วยไปด้วย ในระยะนี้เองที่ร่างกายของเรา “นอนหลับ” เหลือเพียงแต่สมองและสองตาเท่านั้นที่ยังทำงาน และเป็นช่วงเวลาที่เราฝันเห็นสิ่งต่าง ๆ

การนอนหลับแล้วฝัน จะเป็นช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายชะลอการทำงานลง ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน สมองที่ยังคงทำงานอยู่ ก็จะมีการส่งผ่านข้อมูลต่าง ๆ ที่สมองได้รับมาในตอนกลางวัน มาส่งรวบรวม ประมวลผล ส่งผ่านไปยังส่วนต่าง ๆ และเก็บเป็นความจำเอาไว้ ดังนั้นในบางครั้งหลายคนจึงมักจะสังเกตได้ว่า บางเหตุการณ์ในความฝันเป็นสิ่งที่เคยได้เจอ หรือคิดถึงมาก่อน และมีหลาย ๆ เรื่องผสมปนเปกัน บางคนสามารถจำความฝันของตนเองได้ด้วย

สำหรับมนุษย์เรา การนอนหลับแล้วฝันมักไม่ได้เกิดขึ้นตลอดทั้งคืนของการนอนหลับ โดยเมื่อเราเข้านอนใหม่ ๆ ก็จะเริ่มต้นจากระยะที่ 1 และหลับลึกลงเรื่อย ๆ จนถึง REM และอาจมีการสลับเปลี่ยนความลึกของการหลับไปมาได้ ส่วนใหญ่ครึ่งคืนแรกของการหลับ จะอยู่ในระยะ REM เป็นช่วงสั้น ๆ ไม่นานนัก และเมื่อการนอนหลับดำเนินไปเรื่อย ๆ จะเริ่มเป็นระยะ REM บ่อยขึ้นและนานขึ้นกว่าเดิมจนถึงตอนเช้าที่ตื่นนอน

การนอนหลับแบบที่มีการฝัน จึงเป็นการนอนหลับที่ร่างกายได้พักผ่อนและเกิดประโยชน์กับร่างกาย แต่จะได้มาก็ต่อเมื่อเป็นการนอนหลับที่ต่อเนื่องไม่มีสิ่งรบกวนเป็นเวลานานพอสมควร (โดยทั่วไปคือประมาณ 6 ชั่วโมง)

เคยมีการทดลองในหนูซึ่งเป็นสัตว์ทดลองโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้นอนหลับต่อเนื่องไปตลอด กับกลุ่มหนึ่งจะถูกปลุกเป็นระยะ ๆ ทุกครั้งที่คลื่นสมองแสดงให้เห็นว่าเริ่มหลับ เมื่อทำต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ผลพบว่าหนูในกลุ่มที่ไม่ได้นอน มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หัวใจ ไต ทำงานผิดปกติไปอย่างรวดเร็ว และตายในเวลาต่อมาในขณะที่หนูในกลุ่มที่ได้นอนหลับ ไม่มีความผิดปกติใด ๆ เลย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: