เปิดตำนานล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ฮ.ตก จุดชนวน14ตุลา นักศึกษา-ประชาชนลุกฮือไล่รัฐบาลกระเด็น!!





 

กรณีจับซีอีโอบริษัทใหญ่กลางป่า “ทุ่งใหญ่นเรศวร” พร้อมไรเฟิลล่าสัตว์ และของกลางเป็นซากสัตว์จำนวนมาก ชวนให้หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย อันเกี่ยวเนื่องกับผืนป่าดังกล่าว นั่นคือ เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดนครปฐม หรือบางครั้งเรียกว่า “กรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่” หรือกรณี “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ซึ่งกลายเป็นชนวนของการปฏิวัติ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 29 เมษายน 2516 เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อเบลล์ลำหนึ่งของกองทัพบก หมายเลข ทบ.6102 ตกที่เขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในที่เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 6 คน มี เมตตา รุ่งรัตน์ ดาราหญิงชื่อดังในยุคนั้นโดยสารไปด้วย มีการพบซากสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเนื้อขากระทิงขนาดใหญ่ เนื้อใส่กล่องกระดาษหลายกล่อง ปืนล่าสัตว์หลายกระบอก วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยลงข่าวหน้า 1 เป็นกรอบเล็กว่า “ด่วน! เครื่องบินทหารตกที่ อ.บางเลน นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน มี พ.ต.ฉนำ ยุวบำรุง พ.ต.ท.บัญญัติ ไทยภักดี ร.อ.อาวุธ และนายทหารตำรวจอีก 3 นาย มีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 นาย คือ พ.ต.อ.อมร ยุกตะนันต์ พ.ท.จำนง รอดเจริญ นายอนุสรณ์ ยุกตะนันต์ และนายแพทย์ยศจ่านายสิบโทอีก 1 ราย สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน”

ในขณะที่ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐได้รายงานว่าผู้เสียชีวิตมี พ.ต.ไฉน พุกบุญมี ร.อ.อาวุธ อำพันวงศ์ พ.ต.ท. บัญญัติ ไทยภักดี ส่วนผู้บาดเจ็บมี พ.ท.จำนง รอดเจริญ จ.ส.ท.สมรชัย สุขมาก และสองพ่อลูกตระกูลยุกตะนันต์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายของเครื่องบินลำที่ตกกำลังบินขึ้นในป่าและมีรายงานของผู้สื่อข่าวที่ได้ลงพื้นที่ไปทำข่าวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และได้พบกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 5 มหาวิทยาลัยที่ได้เดินทางมาสังเกตการณ์อยู่ก่อนแล้ว ยืนยันว่าคณะนายทหารตำรวจและพ่อค้าเหล่านี้จำนวนประมาณ 50 คนเดินทางมาล่าสัตว์แน่นอน และใช้เฮลิคอปเตอร์สองลำโดยเป็นลำที่ตกลำหนึ่งขนเนื้อสัตว์ที่ล่าได้จากป่าทุ่งใหญ่ อาทิ เก้งกวางและกระทิงไปแช่เย็นที่ตัวเมืองกาญจนบุรี และในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยก็มีภาพของเฮลิคอปเตอร์หมายเลข ทบ.6102 จอดอยู่กลางป่าด้วย ซึ่งเป็นลำที่ใช้ขนเนื้อสัตว์ป่ากลับกรุงเทพมหานครและตกที่อำเภอบางเลนนครปฐม จึงกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเฮลิปคอปเตอร์ลำนี้มาจากการไปร่วมล่าสัตว์จริง

 

 

ต่อมาจากการเปิดเผยของผู้สื่อข่าวสยามรัฐและนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้าไปสำรวจป่าทุ่งใหญ่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงการเข้าไปตั้งแคมป์ล่าสัตว์ในป่า โดยใช้ทรัพย์สินของทางราชการกันอย่างเปิดเผย และพบว่ามีสัตว์ถูกล่าตายจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องเผาซากทิ้งหลังจากคณะพรานกลับไปแล้ว นอกจากนั้นนักวาดการ์ตูนการเมืองอาวุโสประยูร จรรยาวงษ์ ที่ประกาศวางปากกาไม่เขียนการ์ตูนการเมืองมากว่า 2 ปี เพราะเบื่อหน่ายการเมืองก็ทนไม่ไหวต่อกรณีการล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ จึงได้กลับมาวาดการ์ตูนการเมืองเป็นรูปกระทิงนอนตายคลุมธงชาติ ประท้วงต่อการออกมาให้สัมภาษณ์ของฝ่ายรัฐบาลว่าเฮลิคอปเตอร์ที่ตกไปราชการลับ

ต่อมาการรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ก็ถูกรัฐบาลแทรกแซงโดยสารวัตรแผนกหนังสือพิมพ์ทำหนังสือขอให้งดลงข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกจน 3 สมาคมสื่อมวลชน คือ สมาคมหนังสือพิมพ์ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ และสมาคมนักข่าวต้องออกมาแถลงการณ์คัดค้านหนังสือดังกล่าวเพราะเป็นการลิดรอนเสรีภาพการเสนอข่าวเพื่อสาธารณประโยชน์ตามหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ส่วนพนักงานป่าไม้และนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทำข่าวเรื่องนี้ก็ถูกข่มขู่คุกคามอีกด้วย

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ให้สัมภาษณ์ว่าคณะบุคคลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกนั้นตายขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ อันเป็นราชการลับที่เปิดเผยไม่ได้ เนื้อสัตว์ที่อยู่ในเครื่องบินอาจเป็นของที่คนอื่นฝากมาก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปกป้องคนกระทำผิดของรัฐบาล เพราะผู้นำในขบวนนักล่าสัตว์ซึ่งทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 นั้นเป็นบุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งก็คือ พ.ท.สุภัทร สารสิน ลูกชายนายพจน์ สารสิน ที่เป็นนายทหารคนสนิทของพลเอกประภาส จารุเสถียร และหลายคนในคณะก็เป็นทหารตำรวจและพ่อค้าที่สนิทสนมกับคนในรัฐบาล

ต่อมาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการประชุมหารือต่อกรณีดังกล่าวขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2516 มีมติให้ศูนย์ฯดำเนินการ 8 ข้อ เช่น ให้ออกหนังสือเผยเบื้องหลังทั้งหมด จัดอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ฟ้องร้องผู้ล่าสัตว์ต่อศาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยให้ลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่มาของการทำหนังสือบันทึกลับทุ่งใหญ่

ต่อมาการจัดอภิปรายต่อกรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2516 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้เข้าร่วมฟังนับหมื่นคนมีการโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด หลังจากนั้นในวันที่ 19 พฤษภาคม กระทรวงยุติธรรมก็ได้เชิญนักศึกษา 5 คน คือ นายอรรถ อมรเวชเมธี นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ นายทองประกอบ ศิริวานิช นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล นายภราดร กัลยาณสันติ์ และนายสมพงษ์ จิรบันดาลสุข นิสิตจุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งนายสวัสดิ์ มิตรานนท์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์ไปให้ปากคำ

ดังนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับชมรมอนุรักษ์ 4 สถาบันดังกล่าวพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ออกเผยแพร่ ปรากฏว่ามีผู้สนใจแย่งซื้อจน 5,000 เล่มหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และมีการกล่าวอ้างว่าพิมพ์จำหน่ายหมดไปเป็นแสนเล่ม ขณะที่กระแสความสนใจของประชาชนกำลังจะจางหายไป ทางชมรมคนรุ่นใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ออกหนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้นและวิจารณ์การตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในเมืองไทยทั้งในรูปของบทความบทวิจารณ์และบทกวี ในหน้า 6 ของหนังสือเนื่องด้วยเหตุขัดข้องทางต้นฉบับทำให้เกิดพื้นที่เหลือเป็นหน้าว่างจะคิดหาเนื้อหาอะไรมาลงก็ไม่ทันเพราะผ่านกระบวนการจัดพิมพ์ไปหมดแล้ว สุเมธ สุวิทยะเสถียร ในฐานะผู้ผลิตจึงตัดสินใจด้วยอารมณ์ขันผนวกเอากรณีต่ออายุจอมพลถนอมกับเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่เข้าด้วยกันเป็นข้อความลอยๆ 4 บรรทัดว่า

สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ

จากข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงทำให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีสั่งลบชื่อนักศึกษาชมรมคนรุ่นใหม่ที่ทำหนังสือดังกล่าว 9 คน ประกอบด้วย แสง รุ่งนิรันดรกุล วันชัย แซ่เตียว บุญส่ง ชเลธร วิสา คัญทัพ สมพงษ์ สระกวี สุเมธ สุวิทยะเสถียร ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ประเดิม ดำรงเจริญ และกุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์ ตามหนังสือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 272/2516 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2516

ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อนักศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมทั้งสื่อมวลชน จนกระทั่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้ดำเนินการประท้วงที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งรัฐบาลเพิกเฉย จึงย้ายไปประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศปิดมหาวิทยาลัยก็ยิ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก จนในที่สุดมีการยกเลิกการลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คน และให้อธิการบดีพิจารณาตัวเองลาออก รวมทั้งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนที่รัฐบาลไม่รับปากทางผู้ดำเนินการชุมนุมคือนายธีรยุทธ บุญมี เลขาศูนย์ฯ ได้รับปากว่าจะเร่งรัดให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา อันเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในที่สุด

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความ “เฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดนครปฐม” โดย ชาติชาย มุกสง เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า

 

 

 

ภาพจากหนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: